หลวงพ่อสงวน ธมฺมานนฺโท หรือ หลวงพ่อสงวน วัดไผ่พันมือ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคหลังปี 2500 ที่มีชื่อเสียงด้านเมตตามหานิยม
ท่านสร้างวัตถุมงคลแจกฟรี (ไม่เคยให้เช่า-บูชา นอกจากงานสร้างศาลา) ไม่ว่าจะเป็นพระเนื้อผง ดิน เหรียญรูปเหมือน ภาพถ่าย ปลัดขิกไม้-ผง
นามเดิม นายสงวน นามสกุล ร่มโพธิ์ชี ชาตะ เมื่อปี พ.ศ. 2460 พื้นเพเป็นชาวบ้าน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
เดิมสมัยเป็นฆราวาสวัยหนุ่ม ท่านมีนิสัยนักเลง เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ไม่ยอมคน ไม่กลัวใคร ท่านยังรู้จักและสนิมสนมกับเสือในสมัยก่อน เช่น เสือมเหศวร เป็นต้น (ภายหลังจากที่ท่านบวช เสือมเหศวรยังได้ไปมาหาสู่ ช่วยสร้างวัดไผ่พันมือ ตลอดจนแม้ท่านมรณภาพก็ยังมาเป็นประธานในงานฌาปนกิจ)
ราวปี 2470กว่าๆ ทางราชการเร่งปราบปรามบรรดาเสือและสมัครพรรคพวก หลวงพ่อสงวนเกรงว่าจะถูกทางราชการเพ่งเล็งว่าเป็นสมัครพรรคพวกบรรดาเสือ เมืองสุพรรณ จึงได้อุปสมบท ณ.พัทธสีมาวัดสังโฆษิตาราม อ.บางปลาม้า เมื่อราวปี พ.ศ.2480 โดยมีพระครูโฆสิตธรรมสาร หรือ หลวงพ่อครื้น อมโร เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังจากอุปสมบทได้ศึกษาอักขระเลขยันต์คาถาอาคม การเขียนผง-ลบผงอิทธิเจ จากหลวงพ่อครื้น และศึกษาพระปริยัติธรรมควบคู่ไปด้วยจนสอบได้นักธรรมเอก
ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดองครักษ์ อ.บางปลาม้า ราว 4-5 พรรษา ชาวบ้านเลื่อมใสในปฎิปทาต้องการให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส แต่ท่านไม่ต้องการรับตำแหน่ง จึงปฏิเสธและย้ายมาอยู่วัดบ้างกร่าง อ.ศรีประจันต์ ในปี พ.ศ.2490 เป็นศิษย์พระเมธีธรรมสาร (ท่านเจ้าคุณไสว) ซึ่งท่านเจ้าคุณไสวรูปนี้เป็นพระเกจิอาจารย์ชั้นแนวหน้าเมืองสุพรรณ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อาทิ พระพรหมคุณาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณประยุต ประยุตโต ) , พระครูโสภณสิทธิการ (หลวงพ่อสันต์ ) วัดเสือ , หลวงพ่อน่วม วัดโพธิ์ศรีเจริญ , หลวงพ่อทวี (พระปลัดทวี) วัดบ้านกร่าง เป็นต้น ต่อมาหลวงพ่อสงวนท่านได้ลาสิกขาออกมาในช่วงราวปี 2498 ที่วัดบ้านกร่างนี่เอง
ได้พบหญิงคนรัก มีครอบครัว บุตรและธิดา รวม 2 คน ชีวิตฆราวาสของท่านก็คงถือศีล นุ่งขาวห่มขาวมาตลอด และในช่วงปี พ.ศ.2500-2504 ท่านก็อาศัยอยู่ที่วัดห้วยสุวรรณวนาราม อ.ศรีประจันต์
ต่อมาในปี พ.ศ.2505 ขณะอายุ 45 ปี ท่านก็ได้อุปสมบทอีกครั้ง ณ.พัทธสีมาวัดองครักษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยสันนิษฐานว่า พระครูอุดมโชติวัตร (หลวงพ่ออรรถ) วัดองครักษ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากอุปสมบทแล้วจำพรรษาที่วัดทุ่งแฝกประมาณ 7 พรรษา และที่วัดทุ่งแฝกนี้เองท่านเริ่มสร้างเครื่องราง เป็นลูกอมเนื้อผงแจกแก่ชาวบ้านครั้งแรกในราวปี 2510 ซึ่งส่วนใหญ่จะตกอยู่กับเด็กๆ เพราะแรกๆชาวบ้านไม่ค่อยชอบลูกอม ว่ากันว่า แรกๆชาวบ้านชอบพูดสนุกปากว่า "ลูกอมท่านยังกับลูกกระสุนยิงนก ไม่น่าแขวนน่าเอาไปยิงนกมากกว่า"หลังจากที่เด็กๆแขวนลูกอมของท่าน แต่ถูกหมากัดไม่เข้า จึงเริ่มมีชาวบ้านมาขอลูกอมท่าน
ต่อมาเมื่อราวๆปี พ.ศ.2520 ท่านได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดไผ่พันมือ อ.ศรีประจันต์ ซึ่งขณะนั้นวัดไผ่พันมือเป็นป่าไผ่ มีต้นไม้ใหญ่มากมาย ต้องอาศัยชาวบ้านและพระเณรจากวัดองครักษ์ มาช่วยกันถากถางไม้ให้โล่งเตียน งูเหลือมก็มีมากมาย ขนาดที่ว่า งูชอบไปนอนขดในโบสถ์มหาอุตม์ที่วัด ซึ่งเป็นโบสถ์ที่สร้างในสมัยอยุธยา คราวละหลายๆตัว และโบสถ์นี้ในปัจจุบัน พระเณรในวัดก็ยังคงใช้โบสถ์หลังนี้มาโดยตลอด (ไม่มีการสร้างโบสถ์ใหม่)
โบสถ์หลังนี้เป็นโบสถ์มหาอุด คือ มีทางเข้า-ออกเพียงทางเดียว ปัจจุบันหาดูได้ยากมาก
แรกเริ่มที่ท่านมาจำวัดที่วัดไผ่พันมือ ท่านสร้างกระต๊อบหลังเล็กๆเพียงหลังเดียว อยู่ตามลำพัง ออกบิณฑบาตเช้าตรู่ด้วยเท้าเปล่าวันละ 5-6 กิโลเมตร วัดก็เป็นวัดร้าง ไม่มีพระเณรจำพรรษา แต่เพียงไม่กี่ปี ท่านก็สามารถสร้างวัดใหญ่มี กุฏิ ศาลาหลังใหญ่ได้อันเกิดจากศรัทธาชาวบ้านมีภิกษุสามเณรมาจำพรรษาที่วัดมาก ขึ้น
ท่านเป็นพระสมถะ น่ากราบไหว้ รวมตลอดจนเสียงร่ำลือจากประสบการณ์อภินิหารว่า ปลัดขิกและลูกอมท่านหมากัดไม่เข้า นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่อง เมตตามหานิยม ท่านเป็นพระที่ชอบดุบ่อยๆ แต่ชาวบ้านกลับไม่ถือสา แถมยังบอกว่า ถ้าท่านดุด่าว่าเมื่อไหร่เป็นได้โชคทุกครั้ง
ท่านเป็นพระที่ไม่เคยเอ่ยปากขอ ไม่เคยเรี่ยไร แต่แปลกที่ท่านมีลาภสักการะไม่เคยขาด ศิษย์ทราบว่าสร้างอะไรก็จะบอกต่อๆกันไป ในช่วงที่ท่านเริ่มสร้างหวดมนต์ มีเงินเพียง 600 บาท( สร้างหอสวดมนต์ ช่วงปี 2522 - 2524) นายจวง คหบดี ในแถบทุ่งแฝก เคยปวารณาขอถวาย 50,000 บาท ช่วยสร้างหอสวดมนต์ แต่เริ่มสร้างก็ไม่นำเงินมาถวายสักทีจนสร้างเสร็จถึงได้นำเงินมาถวาย หลวงพ่อก็ไม่ยอมรับว่า สร้างเสร็จแล้วไม่เอาแล้ว ไม่ว่านายจวงจะพูดอย่างไร หลวงพ่อก็ไม่ยอมรับเพราะสร้างเสร็จแล้ว จนนายจวงไม่ทราบจะทำอย่างไรเพราะท่านไม่ยอมรับเงินจึงขอสร้างกุฏิถวายวัด หลวงพ่อก็บอกว่า "ตามใจจะสร้างก็ตามใจ"นายจวงจึงได้สร้างกุฏิวัดหลังเล็กๆถวายวัด
หลวงพ่อสงวน ท่านเป็นผู้ที่อุทิศตนบุกเบิกสร้างวัดไผ่พันมือ โดยร่วมกับหลวงพ่อแกละ (สหธรรมิก) สร้างถาวรวัตถุภายในวัด หลวงพ่อแกละท่านชำนาญด้านดูดวง ส่วนหลวงพ่อสงวนชำนาญด้านรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ปัจจัยที่ได้ท่านทั้งสองจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในวัดทั้งสิ้น เรียกได้ว่า พระเณรในยุคนั้นไม่มีอดอยาก แม้ในคราวที่ฝนตกฟ้าร้องไม่อาจออกไปบิณฑบาต ก็มีข้าวปลาอาหารฉันไม่อด
หลวงพ่อสงวนท่านเริ่มที่จะบูรณะวัดนี้โดยสร้างกุฏิไม้หลังเล็กๆขึ้นก่อน จากนั้นจึงสร้างศาลาหลังใหญ่ เมื่อราวปี 2526 ในการสร้างศาลาหลังใหญ่นี้ ได้มีการจัดสร้างเครื่องราง และพระเครื่องเนื้อผงเป็นจำนวนมากเพื่อแจกญาติโยมเป็นที่ระลึกในการร่วมทำ บุญสร้างศาลา ท่านสร้างพระเครื่องเนื้อผง โดยใช้มวลสารผงอิทธิเจที่ท่านปั้นและลบด้วยตัวเอง ตลอดจนดูแลการสร้างด้วยตัวเอง โดยให้พระเณรช่วยกันปั้นและกดพิมพ์พระ (มิใช่จ้างช่างไปทำตามโรงงานแบบที่แต่ละวัดทำในยุคหลังปี 2500) มีประสบการณ์อภินิหารมากมาย ทำให้มีลูกศิษย์นับถือท่านมากมายมาช่วยเหลือท่านสร้างวัดจนมีกุฏิ ศาลา หลังใหญ่
พระเครื่องท่านสร้างจากผงอิทธิเจ ซึ่งท่านเขียนและลบผงด้วยตัวท่านเองตลอดชีวิต ศิษย์และกรรมการในสมัยนั้นต่างทราบดี ว่างจากรับแขก ท่านก็จะเขียนและลบผงทั้งคืน โดยนำมวลสารมาปั้นเป็นแท่ง เขียนแล้วลบเป็นผง จากนั้นก็นำมาเขียนแล้วลบเป็นผง ทำแบบนี้ซ้ำๆ หลายต่อหลายครั้งจนสำเร็จ จึงนำผงที่ได้มาผสมกับมวลสารอื่นๆอาทิ ว่าน ดินกรุ (ซึ่งบดละเอียด) เป็นต้น
เรื่อง ผงอิทธิเจ ของท่านขึ้นชื่อมาก หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี เคยกล่าวว่า"อาจารย์สงวน ทำผงเก่ง"
ในสมัยนั้นวัดพิกุลทอง มีงานพุทธาภิเษกพระเครื่องเมื่อใด หลวงพ่อแพจะส่งรถมารับหลวงพ่อสงวนอยู่เสมอๆ
หลวงพ่อสงวนก็เคยกล่าวยกย่องให้ลูกๆหลานๆฟังเสมอว่า "หลวงพ่อแพ เป็นผู้มีบุญบารมีมาก ผ่านไปสิงห์บุรีให้ไปกราบท่านให้ได้นะ"
หลวงพ่อสงวนมรณภาพ วันที่14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 สิริอายุ 76 ปี 30 พรรษา |
|