ชื่อพระเครื่อง | เหรียญกรมหลวงชุมพร วิหารน้อย วัดราชบพิธฯ ปี 2531 เนื้อเงิน หลวงปู่ดู่ วัดสะแก อธิฐานจิต สวยเดิมๆ ไม่ผ่านการล้าง ไม่เจอบ่อยๆนะครับ |
รายละเอียด | เหรียญกรมหลวงชุมพร วิหารน้อย วัดราชบพิธฯ ปี 2531 เนื้อเงิน
หลวงปู่ดู่ วัดสะแก อธิฐานจิต
สวยเดิมๆ ไม่ผ่านการล้าง ไม่เจอบ่อยๆนะครับ
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 นับลำดับราชสกุลวงศ์เป็นองค์ที่ ๒๘ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
พระองค์ทรงเป็น " องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ " ที่ทหารเรือทุกคนทั้งในอดีตและปัจจุบันระลึกถึงพระองค์ท่านอยู่เสมอ พระองค์ทรงทำทุกอย่างเพื่อให้กองทัพเรือไทยสามารถต่อสู้และเทียบเทียมกับบรรดากองทัพเรืออารยประเทศต่างๆได้ ถือว่าพระองค์ทรงเป็นทหารเรือที่มีคุณลักษณะของทหารเรืออย่างแท้ พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระสติปัญญา มาตลอดพระชนม์ชีพ จนทำให้กองทัพเรือของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง
จนในบั้นปลายประชนม์ชีพ พระองค์ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ โดยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในสมัยนั้นได้เพียงไม่กี่วัน เนื่องจากพระองค์ทรงมีอาการประชวร จึงต้องพักรักษาพระองค์ ในการนี้กระทรวงทหารเรือได้จัดถวายเรือหลวงเจนทะเลเป็นพาหนะ พร้อมด้วยแพทย์และพยาบาลตามเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ไปด้วย พระองค์ทรงเสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2466 โดยได้เสด็จประทับที่หาดทรายรี จ.ชุมพร ซึ่งในระหว่างที่พระองค์ทรงประทับอยู่ที่ จ.ชุมพร พระองค์ทรงพระประชวรเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากทรงถูกฝน ทรงประชวรอยู่เพียง 3 วันเท่านั้นก็สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2466 เรือหลวงเจนทะเลได้อัญเชิญพระศพเสด็จกลับจาก จ.ชุมพรกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ และมาพักถ่ายพระศพสู่เรือหลวงพระร่วงที่บางนา เรือพระร่วงได้อัญเชิญพระศพแล่นขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามายังกรุงเทพฯ จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระศพขึ้นรถพยาบาลของสภากาชาดสยาม ไปประดิษฐานไว้ที่วังของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทาน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระศพไปพระราชทานเพลิง ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุท้องสนามหลวง จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระอัฐิมาประดิษฐานที่ พระวิหารน้อย ในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
สำหรับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม นั้นจัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๕ ) มีพระราชศรัทธาสร้างขึ้น เมื่อวันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง เอกศก ตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๑๒ เป็นวันก่อพระฤกษ์เพื่อสร้างเป็นวัดประจำรัชกาลตามโบราณราชประเพณี จึงมีความสำคัญ ในฐานะวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยตามประเพณีและถือเป็นคติต่อกันมาว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงเสวยราชย์สมบัติแล้ว ต้องสร้างวัดประจำรัชกาลทุกพระองค์
วัดราชบพิธมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสุสานหลวง เป็นสุสานที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้ผู้ที่มีความรักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิด คือ พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรสพระราชธิดาได้อยู่ร่วมกัน หลังจากที่ได้ล่วงลับไปแล้ว โดยทั่วไปจะเป็นการสร้างอนุสาวรีย์ของพระมเหสีหรือเจ้าจอมมารดา เพื่อให้ลูกได้อยู่กับแม่ หรืออย่างน้อยในบ้านของแม่ เว้นแต่ในกรณีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาสิ้นพระชนม์ก่อนพระมารดา ก็สร้างอนุสาวรีย์ของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้นไปก่อน จึงกล่าวได้ว่า เป็นสุสานหลวงอนุสรณ์สถานสำหรับ " จุฬาลงกรณ์ราชสันตติวงศ์ "
จนกระทั่งปี 2529 วิหารน้อย มีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก เพราะตั้งแต่สร้างมายังไม่เคยมีการบูรณะซ่อมแซมเลย โดยเฉพาะหลังคาเวลาฝนตกน้ำรั่ว อีกทั้งพระพุทธรูปองค์ที่อยู่เหนือพระอังคารก็ถูกนักเลงมือดีขโมยไป จะต้องสร้างพระพุทธรูปองค์ขึ้นใหม่เอามาทดแทน โดยมีหม่อมราชวงศ์หญิงทิภากร วรวรรณ ซึ่งเป็นธิดา พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิตพลอาภากร (เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ กับหม่อมช้อย วิจิตรานุช ทรงรับราชการทหารเรือจนได้เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ เมื่อ พ.ศ. 2507) เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการในครั้งนี้ จึงมีความคิดที่จะจัดสร้างเหรียญเสด็จเตี่ย ไว้เป็นที่ระลึกและเพื่อหาทุนทรัพย์ แต่ภายหลังได้ทราบว่าพระญาติ " ราชกุลอาภากร " จะช่วยออกทุนทรัพย์ในการจัดทำเหรียญให้ก่อน เมื่อจำหน่ายเหรียญได้แล้วจึงค่อยนำมาใช้คืน หม่อมราชวงศ์หญิงทิภากร วรวรรณ จึงได้ติดต่อให้กองกษาปณ์กระทรวงการคลังเป็นผู้สร้างเหรียญ เพื่อให้ได้เหรียญที่มีมาตรฐาน สมบูรณ์ สวยงาม ให้มีลักษณะคล้ายกับเหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นแรกที่สร้างแจกเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2466
เมื่อกองกษาปณ์ผลิตเหรียญแล้วเสร็จตามจำนวนที่กำหนf หม่อมราชวงศ์หญิงทิภากร วรวรรณ ได้นำเหรียญทั้งหมดรวมถึงพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อจะนำไปประดิษฐานอยู่เหนือพระอังคารเสด็จเตี่ย นำมาเข้าพิธีปลุกเสกภายในโบสถ์ที่วัดราชบพิธฯในครั้งนี้ด้วย เริ่มพิธีมีการประกอบพิธีจุดเทียนชัย พระพิธี 4 รูปสวดคาถาพุทธาภิเษก พระเถราจารย์ 9 รูปนั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนา ซึ่งในการทำพิธีปลุกเสกในครั้งนี้ได้นมัสการหลวงปู่ดู่ วัดสะแก เข้าร่วมปลุกเสกด้วย โดยใช้เวลาในการปลุกเสกนานอยู่หลายชั่วโมง จนกระทั่งเสร็จพิธี ทำการดับเทียนชัย
เหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ระลึกการบูรณะวิหารน้อย วัดราชบพิธฯ พุทธศักราช ๒๕๓๑ นี้ได้รับการออกแบบโดยคุณไข่มุกด์ ชูโต ปฏิมากรหญิงคนแรกของไทย มีลักษณะคล้ายกับเหรียญกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นแรกที่สร้างแจกเป็นที่ระลึกในงานพระเมรุ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2466 ถือว่าเป็นเหรียญที่ได้รับการออกแบบได้สวยงามมาก ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ด้านหน้าเป็นพระบรม พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ครึ่งพระองค์ ฉลองพระองค์ชุดนายพลเรือเอกทหารเรือเต็มพระยศ มีตัวหนังสือบนพื้นเหรียญว่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และด้านล่างเป็นลายเซ็นพระหัตถ์ของ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ โดยอ่านว่า อาภากร ส่วนด้านหลังมีตัวหนังสือบนพื้นเหรียญว่า ที่ระลึกการบูรณะวิหารน้อย วัดราชบพิธฯ พุทธศักราช ๒๕๓๑ ตรงกลางเหรียญมีตราประจำพระองค์ และมีอักษรด้านบนว่า กยิราเจ กยิราเถนํ และมีรูป พระอาทิตย์ทรงรถเทียมด้วยราชสีห์ มีการสร้างด้วยกัน 4 เนื้อด้วยกัน คือ ทองคำ อัลปาก้า เงิน และทองแดง โดยที่เนื้อทองคำและเนื้ออัลปาก้านั้นสร้างอย่างละ 108 เหรียญ ปัจจุบันยังมีเหรียญเนื้อทองแดงเหลือจำนวนอีกจำนวนหนึ่งแต่จำนวนไม่มากนัก ซึ่งเป็นเหรียญที่ส่งไปจำหน่ายในกองทัพเรือแต่ยังจำหน่ายไม่หมด จึงได้ส่งคืนเข้าเก็บรักษาไว้ที่กรมการเงิน กองทัพเรือ พร้อมมีการเก็บรักษา ควบคุมจำนวนเหรียญและจัดทำบัญชีเงินชัดเจน จึงถือว่าเป็นเหรียญ เสด็จเตี่ย อีกเหรียญหนึ่ง ที่ควรจะหามาไว้บูชา
ปัจจบัน " วิหารน้อย วัดราชบพิธฯ " จะเปิดให้ประชาชนได้ไปสักการะในส่วนของพื้นที่ภายในของวิหารน้อยเฉพาะวันที่ 9 พฤษภาคม(วันอาภากร,สิ้นพระชนม์ ) และ19 ธันวาคม(วันประสูติ) ของทุกๆปีเท่านั้น ซึ่งลูกหลานทหารเรือและประชาชนทั่วไปที่มีความเคารพและนับถือ เสด็จเตี่ย ควรจะมาสักการะสักครั้งเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต |
ราคาเปิดประมูล | 100 บาท |
ราคาปัจจุบัน | 17,000 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!) |
เพิ่มขึ้นครั้งละ | 100 บาท |
วันเปิดประมูล | - 19 พ.ย. 2566 - 18:20:35 น. |
วันปิดประมูล | - 30 พ.ย. 2566 - 17:39:42 น. (ปิดประมูลแล้ว) |
ผู้ตั้งประมูล | Mahamonkkol888 (8K) 
|