ชื่อพระเครื่อง | เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่ดีเนาะ วัดมัชฌิมาวาส อ.เมือง จ.อุดรธานี เนื้อทองแดงผิวไฟสวย พร่อมเลี่ยมกรอบทองหนาๆ เปอร์เซนต์สูง รับประกันตามกฏ ยินดีส่งออกบัตรให้ครับ |
รายละเอียด | พระเทพวิสุทธาจารย์ (หลวงปู่ดีเนาะ)
วัดมัชฌิมาวาส อ.เมือง จ.อุดรธานี
ในจังหวัดอุดรธานี หรือแม้กระทั่งในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคอีสาน มีเกจิอาจารย์จำนวนมากมาย หลายสิบองค์ ที่มีลูกศิษย์ลูกหาที่นับถือกราบไหว้สักการะ ซึ่งเกจิอาจารย์ที่ว่านั้น ส่วนมากนั้นเป็นพระที่อยู่ในสายของธุดงคกรรมฐานเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นท่านหลวงปู่มั่น ภูมิทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่วัน วัดถ้ำส่องดาว สกลนคร หลวงปู่เครื่อง ธัมมจาโร วัดเทพสิงหาร อ.น้ำโสม อุดรธานี หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ของจังหวัดเลย แต่ที่จังหวัดอุดรธานีอีกนั่นแหละที่มี พระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่ เป็นพระสงฆ์หรือเป็นพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่มีลูกศิษย์ลูกหาไม่น้อย แม้กระทั่งฝรั่งมังค่าที่เคยเดินทางมาราชการสงครามเวียดนามก็ยังรู้จักท่าน เพราะเนื่องจากมีประสบการณ์จากวัตถุมงคลที่ท่านสร้างเอาไว้แจกลูกศิษย์ลูกหลานชาวบ้านทั่วไป พระเกจิอาจารย์รูปนั้นไม่ได้เป็นพระเกจิอาจารย์ที่อยู่ในสายของมหายาน พระเกจิอาจารย์รูปนั้นคือ ท่านพระเทพวิสุทธาจารย์ หรือ เป็นที่รู้จักกันอย่างดีว่า "หลวงปู่ดีเนาะ" แห่งวัดมัชฌิมาวาส อ.เมือง จ.อุดรธานี
ถ้าเอ่ยชื่อของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี โดยเฉพาะในเขตเทศบาลแล้ว ชื่อของ พระเทพวิสุทธาจารย์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัดมัชฌิมาวาสนั้น น้อยคนที่จะรู้ว่าท่านเป็นใคร แต่ถ้าเอ่ยชื่อถึง "หลวงปู่ดีเนาะ" แล้วทุกคนจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี เพราะท่าน หลวงปู่ดีเนาะที่ว่านี้ ท่านเป็นพระสงฆ์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า พระเกจิอาจารย์ที่มีประชาชน พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพ นับถือมากไม่แพ้พระเกจิอาจารย์รูปอื่น ๆ ในประเทศไทยเลยทีเดียว
ท่านพระเทพวิสุทธาจารย์ หรือ หลวงปู่ดีเนาะ นั้น การติดตามสืบหาอัตชีวประวัติส่วนตัวของท่านนั้น ไม่ค่อยจะมีปรากฏให้เห็นมากนัก เพราะเนื่องจากว่าท่านจะไม่ค่อยทิ้งหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่านเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ทราบ จะมีบ้างก็เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้รับการรวบรวมจาก ท่านพระธรรมปริยัติโมลี เจ้าคณะภาค 8 เจ้าอาวาสวัดมิชฌิมาวาสองค์ปัจจุบันนี้ เก็บไว้ในหนังสือประวัติของวัดมัชฌิมาวาส
ท่านพระเทพวิสุทธาจารย์ หรือหลวงปู่ดีเนาะ นามเดิมว่า บุ ปลัดกอง เกิดที่บ้านดู่ ต.บ้านดอน อ.ปักธงชัย จ. นครราชสีมา พ.ศ. 2415 บิดาชื่อ นายทา ปลัดกอง มารดาชื่อ นางปาน ปลัดกอง เมื่อมีอายุได้ 19 ปี ครอบครัวของท่านได้อพยพย้ายถิ่นฐานอาศัยจากจังหวัดนครราชสีมา มาอยู่ที่บ้านทุ่งแร่ ต.หมูม่น อ.เมือง จ.อุดรธานี ในปัจจุบันนี้
เมื่ออายุได้ 22 ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดบ้านโนนสว่าง บ้างทุ่งแร่ นั่นเอง และต่อมาอีกหนึ่งปี ท่านก็ได้รับ การอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดบ้านบ่อน้อย ต.เชียงยืน อ.เมือง จ.อุดรธานี มีพระอธิการกัน วัดสระบัว บ้านสร้างแป้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "ปุญญสิริ" เมื่ออุปสมบทเป็น พระภิกษุแล้วนั้น ได้ไปจำพรรษา อยู่ที่วัดบ้านโนนสว่าง บ้านทุ่งแร่ อยู่ 3 พรรษาจึงได้ย้ายสำนัก ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส เมื่อ พ.ศ.2440 และท่านหลวงปู่ดีเนาะ ก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งนี้ และได้รับเลื่อนสมณศักดิ์ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ
หลาย ๆ คนอาจจะมีความสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด ท่านพระเทพวิสุทธาจารย์ จึงมีฉายาอีกว่า "หลวงปู่ดีเนาะ" ความเป็นมาของฉายาดังกล่าวนั้น เป็นที่กล่าวขานกันในหมู่ศิษย์และประชาชนทั่วไป ที่เคยใกล้ชิดกับท่านกล่าวว่า ตามปกติวิสัยของท่านหลวงปู่ดีเนาะนั้น ท่านชอบอุทานหรือกล่าวคำว่า "ดีเนาะ" และคำว่า "สำคัญเนาะ" และท่านจะเรียกคนทั่วไปรวมทั้งพระภิกษุและสามเณร หรือคฤหัสถ์ ว่า "หลวง" เวลาท่านหลวงปู่ดีเนาะจะพูดคุยกับใครก็ตาม ท่านก็จะออกปากเรียกคนที่ท่านคุยด้วยว่า "หลวง" และเมื่อท่านจะต้องกลายเป็นผู้รับฟังนั้น ท่านก็จะมีคำอุทานวาจาว่า ดีเนาะ อยู่เป็นอาจินต์ ไม่ว่าเรื่องที่ท่านได้รับฟังนั้นจะเป็นดี หรือเรื่องร้ายเพียงใดก็ตาม ท่านหลวงปู่ดีเนาะก็จะเอ่ยปากอุทานว่า ดีเนาะ หรือ สำคัญเนาะ จากคำอุทาน หรือคำพูดที่ท่านหลวงปู่ติดปากนี้เอง ประชาชนและลูกศิษย์ของท่านหลวงปู่ จึงตั้งฉายา หรือสมานาม ท่านหลวงปู่ว่า "หลวงปู่ดีเนาะ" แม้กระทั่งในการได้รับ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ของท่านนั้น ราชทินนามของท่านก็ยังมีคำว่า "สาธุอุทานธรรมวาที" ซึ่งแปลว่า "ดีเนาะ" อยู่ในราชทินนามของท่านด้วย
พระเทพวิสุธาจารย์ ได้เลื่อนสมณศักดิ์ตามกาลเวลาเรื่อย ๆ จนกระทั่งสุดท้ายท่านได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีราชทินนามว่า "พระเทพวิสุทธาจารย์ สาธุอุทานธรรมวาที ปูชนียฐานประยุต เชษฐวุฒิอิสาน คณาธิกร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี" และซึ่งก่อนหน้านั้นท่าน ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เมื่อยังคงเป็นพระบุ (ปุสิริ) เมื่อ พ.ศ.2451 นับว่าเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ของวัดมัชฌิมาวาส
ในขณะนั้นที่ท่านหลวงปู่ดีเนาะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาสนั้น ท่านได้ทำการบูรณะวัดมัชฌิมาวาสในด้านต่าง ๆ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ไม่ว่าจะเป็นถาวรวัตถุและเสนาสนะ เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนปริยัติธรรมและกุฏิของพระลูกวัดจำนวนมาก ที่เห็นในปัจจุบันนี้นั้นล้วนแต่ได้รับ การบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นในสมัยที่ท่านหลวงปู่ดีเนาะทั้งสิ้น นอกจากในด้านถาวรวัตถุของวัดแล้ว ท่านหลวงปู่ดีเนาะ ท่านก็ยังหันมาพัฒนาในด้านของการศึกษาของพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในวัดแห่งนี้ โดยการจัดตั้งโรงเรียนปริยัติธรรมขึ้นมา สอนนักธรรมบาลีตามหลักสูตรของราชการคณะสงฆ์ ตั้งแต่ชั้น นักธรรมตรี จนถึงชั้น ป.ธ.6
สำหรับในด้านที่ท่านหลวงปู่ดีเนาะ ได้รับการนับถือเคารพสักการะในฐานะของเกจิอาจารย์นั้น ท่านหลวงปู่ดีเนาะก็นับว่า เป็นพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีลูกศิษย์มากองค์หนึ่ง ในเรื่องของวัตถุมงคลที่ท่านหลวงปู่ดีเนาะสร้างขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้กับลูกศิษย์และประชาชนทั่วไปนั้น เป็นเพียงเหรียญและตะกรุดที่ทำคู่กัน เมื่อเวลาท่านจะมอบให้ใครท่านก็จะมอบให้คู่กันไปเลย ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นของที่ค่อนข้างจะหายากขี้นทุกที คนที่มีหรือว่าเคยมีก็ไม่ค่อยให้ใครเห็นหรือดูกัน เพราะเกรงว่าจะถูกขอ เพราะเหตุที่ว่า หลวงปู่ทำออกมาน้อยเพียงรุ่นเดียว เมื่อท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาทั้งหลายที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดสร้างขึ้นมาอีก
เหรียญและตะกรุดหลวงปู่ดีเนาะนั้น ในเรื่องของประสบการณ์นั้น คนที่เคยมีสิ่งของเหล่านี้ มีเรื่องที่เล่าและกล่าวถึงมากพอสมควร และไม่ใช่เฉพาะแต่ในหมู่ของพุทธศาสนิกชนชาวไทยเท่านั้น แม้แต่คนที่อยู่ในศาสนาอื่นก็ยังให้ความเคารพนับถือท่านหลวงปู่ กล่าวคือ
ในปี พ.ศ.2511 ในขณะ นั้นสถานการณ์สงครามเวียดนามกำลังทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ทหารอเมริกันถูกส่งเข้ามาประจำการตามฐานทัพต่าง ๆ ในประเทศไทยเพื่อรอการเดินทางไปทำการรบในสนามรบที่ประเทศเวียดนาม และมีทหารอเมริกันส่วนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทย ที่ได้ผู้หญิงไทยเป็นภรรยา และเมื่อสามีที่เป็นทหารอเมริกันจะเดินทางไปรบเวียดนาม ด้วยความเป็นห่วงสามี ภรรยาคนไทยก็เลยเอาเหรียญหลวงปู่ดีเนาะแขวนคอสามีไป
จะด้วยเหตุอภินิหาร หรือด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของท่านหลวงปู่ดีเนาะ ก็ไม่มีใครตอบได้ ทหารอเมริกันคนนั้นออกทำการลาดตระเวนไปในพื้นที่ โดยใช้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์เป็นพาหนะ และเครื่องบินลำดังกล่าวถูกฝ่ายตรงข้ามยิงตก ทหารหน่วยลาดตระเวนดังกล่าวเสียชีวิตเกือบหมด รวมทั้งนักบินประจำเครื่องด้วย ส่วนทหารอเมริกันที่ห้อยเหรียญหลวงปู่ดีเนาะ เพียงแต่ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต เมื่อได้รับการรักษาตัวจนหายเป็นปกติดีแล้ว และได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับมาพักผ่อนในประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงได้พาพรรคพวกที่เป็นทหารด้วยกันมาประเทศไทยด้วย
ด้วยความที่เกิดความเชื่อว่าการที่ตนรอดตายในครั้งนั้น จะต้องเป็นรูปเหรียญพระที่ตนได้รับ จากภรรยาที่เป็นคนไทยเหรียญนั้นอย่างแน่นอน เมื่อได้สอบถามจากภรรยาคนไทยก็ทราบเพียงว่า เหรียญรูปพระดังกล่าวนั้น เป็นของหลวงปู่ดีเนาะ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นพระอยู่ที่ไหน จึงได้ไปถามกับเจ้าหน้าที่ของโรงแรมที่ตนเองพักอยู่ว่าในเมืองอุดรธานีนี้ มีพระที่ชื่อว่าดีเนาะบ้าง โดยทหารคนนั้น ถามว่า "ดู ยู โน เนาะ มั้ง อิน อุดร ทาวน์"
ผู้ที่ถูกถามเองก็ไม่เคยรู้เรื่องพระมาก่อน จึงได้พยายามสอบถามจากคนอื่น ๆ ที่อยู่ในที่ทำงานเดียวกัน จนกระทั่งรู้ว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดมัชฌิมาวาส จึงบอกแก่ทหารอเมริกันคนนั้นไป แต่ก็ยังถูกขอร้องให้เป็นผู้พาไปหาอีก ซึ่งเจ้าหน้าที่คนนั้นก็ต้องลาพักงานชั่วระยะหนึ่งพาไปหาหลวงปูดีเนาะที่วัด ซึ่งในการพาฝรั่งกลุ่มนั้นไปหาหลวงปู่ดีเนาะนั้น ผู้พาก็ได้รับแจกเหรียญและตะกรุดมา 2 ชุด แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องนี้มาก่อน จึงไม่ได้สนใจที่เก็บรักษาเอาไว้ และได้มอบให้คนอื่นต่อไป คงรักษาเอาไว้เพียงตะกรุดเพียงดอกเดียวในเวลานี้ ต่อมาเมื่อได้รับทราบถึงกิตติคุณของท่านเมื่อท่านมรณภาพแล้ว ก็หาเหรียญดังกล่าวไม่ได้แล้ว
หลวงปู่ดีเนาะ หรือ พระเทพวิสุทธาจารย์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2451 จนกระทั่ง พ.ศ.2513 จึงได้ถึงแก่มรณภาพลง ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2513 ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีระกา เวลา 09.10 น. ด้วยโรคชรา รวมอายุท่านหลวงปู่ได้ 98 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาวาส เป็นเวลา 63 ปี พรรษาได้ 76 พรรษา |
ราคาเปิดประมูล | 18,500 บาท |
ราคาปัจจุบัน | -- ยังไม่มีผู้เสนอราคา -- (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!) |
เพิ่มขึ้นครั้งละ | 100 บาท |
วันเปิดประมูล | - 30 ส.ค. 2567 - 18:40:43 น. |
วันปิดประมูล | - 09 ก.ย. 2567 - 18:40:43 น. (ปิดประมูลแล้ว) |
ผู้ตั้งประมูล | Bobbie (1K)
|