รายละเอียด | เตาทุเรียง หรือ เตาสังคโลก เป็นเตาเผาถ้วยชามสังคโลก สมัยสุโขทัย ช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 เตาทุเรียงที่สำรวจพบมีอยู่ 3 บริเวณด้วยกัน คือ เตาทุเรียงบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย, เตาทุเรียงป่ายาง และ เตาทุเรียงเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย
ลักษณะของเตาเผาแบบอิฐ มีรูปแบบคล้ายกับประทุนเกวียน แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ที่จุดเชื้อเพลิง ที่วางถ้วยชาม และปล่องไฟระบายความร้อน คาดว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 นับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในสมัยนั้นอย่างแท้จริง
นอกจากการเผาภาชนะ ถ้วยชาม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว ในบางครั้งก็ยังใช้เป็นเตาเผา พระเครื่อง อีกด้วยด้วย ดังที่ได้มีขุดพบพระเครื่องพิมพ์ต่างๆ ในบริเวณเตาทุเรียงหลายแห่ง ซึ่งล้วนเป็นพระเนื้อดินเผา อาทิ พระร่วงยืนเปิดโลก, พระร่วงยืนประทานพร, พระยอดขุนพล, พระลือโขง, พระซุ้มยอ, พระนางพญาเสน่ห์จันทน์, พระซุ้มกระรอกกระแต, พระหัวใจกำแพง ฯลฯ
กล่าวเฉพาะ พระหัวใจกำแพง กรุเตาทุเรียง จ.สุโขทัย เนื้อดินเผา แก่ไฟ เนื้อแกร่ง เป็นพระแผงขนาดใหญ่ สูงเกือบ 5 นิ้ว มีพระปางมารวิชัย องค์เล็กๆ ประทับนั่งอยู่ในซุ้ม 54 องค์ + พระปางมารวิชัย องค์ใหญ่อยู่ตรงกลางอีก 1 องค์ รวมเป็น 55 องค์ พระองค์ในภาพนี้มีองค์พระเล็กๆ เต็มแผง และสมบูรณ์มาก สภาพนี้หายากสุดๆ สนนราคาหลักหมื่นต้น (พระที่ชำรุดส่วนหนึ่งจะนำไปเลื่อยแบ่งออกเป็นพระองค์เล็กๆ ถ้าได้พระองค์ใหญ่ที่อยู่ตรงกลาง สภาพสมบูรณ์ มีผู้นำไปเลี่ยมห้อยองค์เดียวก็มี) |