ชื่อพระเครื่อง | พระผงผสมว่านยาหลวงพ่อชื่น วัดป่ามุนี |
รายละเอียด | พระผงผสมว่านยาหลวงพ่อชื่น วัดป่ามุนี
วัดป่ามุนีเป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และถูกปล่อยให้รกร้างระยะหนึ่ง คนในพื้นที่บางคนเรียกวัดป่าโพธิ์ทอง ต่อมามีพระอาจารย์ชื่น ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่สันโดษ เคร่งครัดในวิปัสสนาธุระ มาจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามุนี
ประวัติความเป็นมาของท่านไม่มีการบันทึกไว้ มีแต่คำบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมมาก ทั้งในด้านแพทย์แผนโบราณ และพุทธาคม จากคำบอกเล่าของท่านพระครูวิจารณ์โสภณ (นาม) ว่าหลวงพ่อชื่นมีความเชี่ยวชาญเรื่องวิทยาคมและอักขระเลขยันต์ ซึ่งตำราของท่านยังตกทอดมาอยู่กับวัดเกาะ โพธิ์ทอง นอกจากนี้ยังมีตำราแพทย์แผนโบราณที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ชาวบ้านเรียกว่า ยาปีป เป็นยาสำรวมใช้รักษาได้สารพัดโรค คุณวิเศษของท่านนั้นมีเสียงเลื่องลือกันอยู่มากมาย
หลวงพ่อชื่นในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น เรื่องวิชากระสุนโค้งหรือกระสุนคด หลวงพ่อนามเคยเห็นมากับตา หลวงพ่อชื่นเคยแสดงให้เห็น โดยหลวงพ่อชื่นบอกพวกลูกศิษย์ให้ดูมะม่วงที่สุกหัวเหลืองอยู่บนต้นแล้วท่านยิงกระสุนออกไปโดยยิงไปอีกทิศทางหนึ่ง แต่กระสุนไปตัดขั้วลูกมะม่วงลูกที่ท่านบอกให้ดูตกลงมาได้อย่างแม่นยำ และไม่ถูกมะม่วงลูกอื่นในช่อเดียวกันเลย วิชานี้พวกชาวบ้านต่างทราบดี และหัวขโมยต่างเกรงกลัวกันมาก
นอกจากนี้หลวงพ่อชื่นได้ปลูกว่านต่างๆ ไว้ในวัดมากมาย แต่ละอย่างล้วนมีสรรพคุณทางด้านต่างๆ ใช้รักษาโรค รักษาแก้พิษงู ว่านมหาเสน่ห์ ว่านอยู่คงต่างๆ ในสมัยนั้นใครป่วยไข้ก็พามาให้หลวงพ่อชื่นช่วยรักษาให้ วันๆ มีคนมารักษามากแม้อยู่ไกลต่างแดนก็มาให้หลวงพ่อรักษาให้ เรื่องยาปีปของหลวงพ่อมีชื่อเสียงโด่งดังมากในสมัยนั้น
หลวงพ่อชื่นได้สร้างพระเครื่องไว้เป็นพระเนื้อผงผสมว่านยา ซึ่งท่านสร้างใส่ไว้ในตุ่มเป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแปดหมื่นสี่พันองค์มีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์เม็ดบัว พิมพ์ปิดตา พิมพ์ปรกโพธิ์ พิมพ์บัวสองชั้น พิมพ์ฐานผ้าทิพย์ เป็นต้น
พระของท่านมีทั้งที่บรรจุในกรุและที่ไม่ได้บรรจุกรุ จะเห็นว่าผิวของพระไม่เหมือนกันที่มีคราบกรุกับไม่มีคราบกรุ เนื้อของพระจะออกเป็นสีเทาอมเขียวคล้ายๆ กับพระวัดท้ายตลาด พระที่บรรจุกรุในเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชร (พระพุทธรูปหินเขียว) ได้เปิดกรุในปี พ.ศ.2493 เมื่อรื้อกุฏิหลวงพ่อเพชรออก เพื่อสร้างกำแพงแล้ว จึงพบพระผงว่านยาที่หลวงพ่อชื่นบรรจุไว้ ส่วนพระที่ใส่ตุ่มไว้นั้น หลวงพ่อได้แจกจ่ายญาติโยมไปตั้งแต่ในสมัยนั้นจนหลวงพ่อมรณภาพ ก็ยังมีคนมาขอพระไปจนหมด
พระเครื่องของหลวงพ่อชื่นมีประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งทางด้านอยู่คง และทางด้านรักษาโรค มีคนนำไปฝนกินรักษาโรคต่างๆ ได้ มีผู้เล่าว่าเคยมีคนถูกงูเห่ากัด ไม่รู้จะทำอย่างไรก็บดพระของหลวงพ่อชื่นให้กินและพอกที่แผล ปรากฏว่าคนที่ถูกงูกัดไม่ตายหายได้เป็นปลิดทิ้ง
มุมพระเครื่อง
20 พฤศจิกายน 2018 ·
พระผงผสมว่านยา
หลวงพ่อชื่น อินฺทชิต
วัดป่ามุนี ตำบลอินทประมูล อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง
สุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้มีวิชา กระสุนคด พระเครื่อง ว่านยา ของท่านรักษาพิษงูได้
เอาเข้าจริงพระเครื่องที่เราๆ รู้จักกันนั้นก็อาจไม่มากมายเท่าใดนัก เพราะมักจะรู้จักกันแต่เพียงเท่าที่พบเห็น หรือที่มีปรากฏบนหน้านิตยสารพระเครื่อง ซึ่งโดยมากก็มักเป็นพระเครื่อง หลักๆ อันเป็นที่นิยมโดยทั่วไป พระท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งบางครั้งในตลาดพระส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ก็มักไม่ค่อยมีให้ได้อ่าน ได้ศึกษา
นี่เลยขอชักชวนเพื่อนๆ นำพระท้องถิ่นของท่านมาให้ความรู้กันบ้าง จะได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง
ว่าแล้วไปที่อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง วัดป่ามุนี คือสถานที่ที่จะนำมาเล่าสู่กัน
วัดป่ามุนี มีพระเครื่องเนื้อผงผสมว่านยาที่หลวงพ่อชื่น อดีตเจ้าอาวาสวัดได้สร้างขึ้นมาตั้งแต่ราวปี พ.ศ. ๒๔๖๐ โดยประมาณ แล้วบรรจุเก็บไว้บนเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหินเขียว เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๓ เหตุที่พบพระผงว่านยาของหลวงพ่อชื่นเพราะการรื้อกุฏิหลวงพ่อเพชรออกเพื่อสร้างกำแพงแก้ว และอัญเชิญหลวงพ่อเพชรไปประดิษฐานหน้าหลวงพ่อโต พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ ซึ่งเป็นพระปูนปั้นสมัยอยุธยา
วัดป่ามุนีแห่งนี้มีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดป่าโพธิ์ทอง เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งของจังหวัดอ่างทอง หากแต่ไม่มีปรากฏหลักฐานความเป็นมาแต่เดิม ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าว่าครั้งปู่ย่าตาทวดก็เห็นวัดนี้มาแล้ว ซึ่งสังเกตจากถวรวัตถุและเสนาสนะของวัดสันนิษฐานได้ว่าได้สร้างขึ้นมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา
อย่างไรก็ตามวัดป่ามุนีมีอดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งชื่อ หลวงพ่อชื่น อินฺทชิต ที่มีชื่อเสียงกระเดื่องนามในอดีต เป็นพระเถระที่ถือสันโดษและเคร่งครัดในวิปัสสนากรรมฐาน ชื่อเสียงของท่านนั้นโด่งดังมาจาก ยาปีป ซึ่งเป็นยาสำรวมใช้รักษาได้สารพัดโรค เพราะหลวงพ่อชื่นไม่เพียงเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมเท่านั้น ในด้านวิชาแพทย์แผนโบราณท่านก็มีความรอบรู้เป็นอย่างดี จึงมีชื่อในด้านการรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวบ้านด้วยยาสมุนไพร
ที่วัดป่ามุนีแห่งนี้ หลวงพ่อชื่นได้ปลูกว่านยาสมุนไพรไว้เป็นจำนวนมาก และว่านยาเหล่านี้ที่หลวงพ่อชื่นนำมาผสมเข้ากับผงวิเศษสร้างเป็นพระเครื่องจำนวนมากมาย และกล่าวกันว่ามีถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ เท่าพระธรรมขันธ์
อย่างไรก็ตามมีการกล่าวถึงพระผงว่านยาหลวงพ่อชื่นไว้ว่ามีหลายพิมพ์ทรง แต่ที่พบจากกรุเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชรนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๔ พิมพ์ คือ
๑. พิมพ์เม็ดบัว
๒. พิมพ์ปรกโพธิ์
๓. พิมพ์ฐานผ้าทิพย์
๔. พิมพ์ปิดตา
กล่าวสำหรับหลวงพ่อชื่นน่าเสียดายอยู่ว่า ไม่มีการบันทึกข้อมูลหลักฐานถึงประวัติความเป็นมาแต่กำเนิดจนเติบโตเข้าอุปสมบทตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตเอาไว้เลย อันเป็นธรรมดาสำหรับประวัติพระเกจิอาจารย์โดยทั่วไปที่บางรูปยากจะสืบสาวราวเรื่องได้
แต่ยังพอมีรายละเอียดปลีกย่อยในชีวิตของหลวงพ่อชื่นที่ยังพอมีบอกเล่ากัน คือ พระครูวิจารณ์โสภณ (นาม มณิโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเกาะ อำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ท่านเคยเล่าไว้ว่า ท่านอาจารย์ชื่นรูปนี้นั้นเป็นพระอาจารย์ซึ่งมีความรอบรู้ และแตกฉานในเรื่องคาถาอาคมอักขระเลขยันต์เป็นอย่างยิ่งรูปหนึ่ง พิจารณาได้จากตำรับตำราของท่านที่ตกทอดมาอยู่กับท่าน (พระครูวิจารณ์โสภณ)
พระครูวิจารณ์โสภณ (นาม มณิโชโต) ยังได้เล่าถึงเรื่องราวที่ท่านเคยพบเห็นประจักษ์แก่สายตามาแล้ว คือ หลวงพ่อชื่น หรือพระอาจารย์ชื่นท่านสำเร็จวิชายิงกระสุนโค้ง สามารถที่จะใช้อำนาจจิตบังคบให้ลูกกระสุนไปถูกเป้าตามความปรารถนา เช่า เฝ้าอยู่ทางด้านหลังแต่ยิงกระสุนไปทางด้านหน้าแต่ลูกกระสุนกลับวิ่งโค้งไปถูกเป้าอย่างนี้เป็นต้น
พระครูวิจารณ์โสภณ (นาม มณิโชโต) ท่านว่า มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะที่ลูกศิษย์นั่งล้อมวงกันอยู่นั้น ท่านได้ถามขึ้นมาว่า เอ็งเห็นมะม่วงช่อนั้นไหม ถ้าเอ็งอยากจะได้ลูกสุกเหลืองนั้นเดี๋ยวข้าจะปลิดเอาลงมา ลูกศิษย์ต่างสนใจที่จะเห็นฝีมือหลวงพ่อที่เขาเล่าลือกันนักเหมือนกัน
ท่านพูดพลางก็เดินเข้าไปในกุฏิสักพักหนึ่งก็ออกมาพร้อมด้วยคันกระสุนและลูก เห็นท่านง้างเล่นๆ อยู่สองสามครั้งแล้วก็ปล่อยลูกกระสุนออกไปอย่างไม่ต้องเล็งแลเท่าใดนัก ความแปลกมหัศจรรย์ได้ปรากฏแก่สายตาทันที นั่นคือมะม่วงลูกสุกเหลืองอร่ามลูกนั้นขั้วได้ขาดเหมือนถูกปลิด มะม่วงทั้งช่อถูกเฉพาะขั้วลูกที่หมายตาไว้เท่านั้น
หรือแม้กระทั่งนกที่บินอยู่ในอากาศ หากท่านหมายตัวไหนไว้ แล้วง้างคันธนูปล่อยกระสุนไป นกตัวนั้นจะตกลงมาทันที แต่ก็แปลกมหัศจรรย์กว่านั้นอีก นกตัวนั้นเมื่อตกถึงพื้นก็ฟื้นคืนสติไม่เคยตายเลยสักตัว
และเพราะวิชายิงกระสุนคดนี้เอง บริเวณวัดป่ามุนีเต็มไปด้วยไม้ผลนานาชนิด ทั้งมะพร้าว พุทรา มะม่วง กล้วย ส้ม มีบรรดาหัวขโมยแอบมาขโมยอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าหลวงพ่อชื่นเห็น ท่านจะหยิบคันธนูยิงกระสุนคด แม้ขโมยจะทันเห็นท่านแอบหลบหลังต้นไม้ใหญ่ก็ตาม กระสุนที่ยิงยังโค้งมาถูกทุกที จึงเป็นที่หวาดกลัวของพวกหัวขโมยทั้งหลาย
เล่ากันว่าคันธนูของหลวงพ่อชื่นนั้น คันแข็งมาก ขนาดคนแข็งแรง ๒ คนยังไม่สามารถง้างขึ้นได้เลย แต่กลับกันหลวงพ่อชื่นเพียงใช้แรงเบาๆ ก็ง้างคันใส่กระสุนลงไปก็ได้แล้ว ไม่เพียงเท่านั้นสำหรับคันธนูนั้นเหลาขึ้นจากไม้ไผ่สำหรับหามศพตายทั้งกลม เฉพาะที่ตายวันเสาร์เผาวันอังคาร เมื่อได้ไม่ไผ่แล้วต้องทำพิธีเหลาเซ่นวักผีตายทั้งกลมนั้น ส่วนลูกกระสุนใช้ดิน ๗ ป่าช้ามาปั้น ขณะปั้นต้องบริกรรมคาถาไปพร้อมด้วย และในขณะที่จะยิงต้องเพ่งจิตบริกรรมให้แน่วแน่ไปยังเป้าหมายที่หมายตาเอาไว้
ดังกล่าวได้ถึงพระเครื่องเนื้อผงว่านยาของหลวงพ่อชื่นไว้แต่ข้างต้นแล้ว และพบจากกรุ คือที่เก็บพระเครื่องทั้งหมดบนเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชร มีเพียง ๔ พิมพ์ แม้ว่าภายหลังจะพบเห็นอีกหลายพิมพ์แต่ก็ไม่เป็นที่ยืนยัน แต่จากคำบอกเล่าของพระครูวิจารณ์โสภณ (นาม มณิโชโต) ท่านบอกว่า ในบั้นปลายชีวิตของหลวงพ่อชื่น ได้อาพาธเป็นโรคฝีในท้อง (วัณโรค) มีอาการทรุดหนักถึงขั้นอาเจียนออกมาเป็นเลือดและหนอง ร่างกายมีความอ่อนเพลียต้องการอาหารมาทำนุบำรุงเป็นอย่างมาก จนไม่อาจสามารถที่จะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จึงต้องลาสิกขาออกมาเพื่อรักษา
โดยได้ออกมาปลูกบ้านอยู่ในที่ของนายหยง สุขแสง ผู้เป็นบุตรบุญธรรม และได้ต้มยาสมุนไพรรักษาจนอาการไอเป็นเลือดและหนองออกมาหายไปดังปลิดทิ้ง และยังคงรักษาศีล นุ่งขาวห่มขาวไปตราบจนถึงแก่มรณกรรมเมื่ออายุได้ราว ๘๐ ปี
เมื่อท่านอาจารย์ชื่นถึงแก่มรณกรรม พระครูวิจารณ์โสภณ (นาม มณิโชโต) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะ ได้เป็นประธานในการจัดการศพ และได้เล่าว่า พระเครื่องของหลวงพ่อชื่นยังคงเหลือถึง ๖ ตุ่มมังกร ลูกหลานและท่านผู้เคารพนับถือได้แบ่งเอาไปคนละทิศคนละทาง เฉพาะรายใหญ่เอาขึ้นไปแจกแถวจังหวัดนครราชสีมา อีกสายหนึ่งเอาไปแจกที่วัดแถวอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และยังมีในที่อื่นอีกมาก ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่ได้รับจากวัดไหนอาจเข้าใจว่าเป็นของวัดที่ได้รับแจกมา ซึ่งเป็นความไขว้เข้วเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นได้ หากไม่ทราบถึงที่มาอย่างแท้จริง
ดังนั้น พระเครื่องเนื้อผงยาผสมว่านของหลวงพ่อชื่น จึงแบ่งได้ ๒ ประเภท คือ ประเภทไม่ได้บรรจุกรุ คือ พระที่เหลืออยู่ในตุ่มมังกร และที่บรรจุกรุคือ พระที่เก็บไว้บนเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชร
จึงเห็นความแตกต่างของทั้ง ๒ แบบนี้ได้ คือพระส่วนที่ไม่ได้บรรจุกรุนี้ วรรณะออกไปทางเขียวขี้ม้า มีความอ่อนแก่ลดหลั่นกัน ส่วนที่บรรจุกรุบนเพดานกุฏิหลวงพ่อเพชร ซึ่งเป็นกุฏิก่ออิฐถือปูน พระส่วนนี้มีวรรณะส่วนนอกขาวนวล เข้าใจว่าผิวส่วนนอกถูกคลุกเคล้าอยู่กับปูนขาว แต่ถ้านำเอาไปล้างเอาคราบปูนออกสีของเนื้อในจะอมเขียวเล็กน้อย ไม่เขียวคล้ำเหมือนกับพระส่วนใหญ่ที่อยู่ในตุ่มมังกร
- พระเนื้อผงว่านยา พิมพ์เม็ดบัว มีลักษณะสัณฐานเหมือนเม็ดบัว ด้านหลังส่วนมากจะนูนโค้งหรือเกือบจะกลม ยอดแหลมมน ด้านหน้าเป็นรูปองค์พระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ ประทับอยู่ภายในซุ้มครอบแก้ว เป็นพิมพ์ที่มีความคมชัดมากกว่าพิมพ์อื่น
ฯลฯ |
ราคาเปิดประมูล | 100 บาท |
ราคาปัจจุบัน | 150 บาท (!!! ปิดประมูลแล้ว !!!) |
เพิ่มขึ้นครั้งละ | 50 บาท |
วันเปิดประมูล | - 06 ส.ค. 2567 - 12:22:25 น. |
วันปิดประมูล | - 08 ส.ค. 2567 - 10:38:30 น. (ปิดประมูลแล้ว) |
ผู้ตั้งประมูล | เกื้อหนุน (2.2K)
|