(D)
"พระลือหน้ายักษ์ครับ พอไปได้มั้ยครับ."
มรดกแผ่นดิน ๖ สค.๔๙
ข้อมูลใหม่วัดพระยืน
จากพระลือหน้ายักษ์ ถึงทางเสด็จราชมรรคา
ในที่สุดวัดพระยืน เมืองลำพูนก็ได้รับฉายาใหม่จนเป็นที่ฮือฮาขณะนี้ว่า Roman Road of Siam หลังจากที่ได้มีการขุดพบถนนสายที่เก่าที่สุดในภาคเหนือ เป็นทางเสด็จราชมรรคาของพญากือนา มีอายุเก่าแก่ราว ๖๔๐ ปี ตรงตามกับข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกหลัก ลพ.๓๖ ซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในวัด ระบุถึงพญากือนาทรงสร้างถนนขึ้นสายหนึ่งเพื่อใช้เป็นทางเสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุกลางอาณาจักรหริภุญไชย โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่ในวัดพระยืนไปจรดริมฝั่งน้ำหน้าวัดพระธาตุ
เส้นทางสายนี้หากอนุรักษ์และพัฒนาให้ดี สามารถชูประเด็นจุดขายใหม่ให้แก่วงการท่องเที่ยวเมืองลำพูนได้อย่างสบาย เพราะปัจจุบันนี้องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงยองได้จัดทำเส้นทางถนนสายวัฒนธรรมเวียงยองขึ้นมาใหม่อีกสายหนึ่ง เริ่มจากขัวมุงริมน้ำกวง ผ่านวัดต้นแก้ว วัดร้างดอนแก้ว มุ่งหน้าสู่วัดพระยืน สามารถนำมาเชื่อมต่อกับ Roman Road หรือทางเสด็จราชมรรคาได้พอดิบพอดี
และที่สุดของความฮือฮาจากโครงการขุดค้นทางโบราณคดีวัดพระยืน ตั้งแต่เมื่อกลางปีกลายจนถึงต้นปีนี้ เห็นจะไม่มีอะไรเกินกรณีที่ค้นพบ พระพิมพ์รุ่นปริศนา พระลือหน้ายักษ์ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคมที่ผ่านมา ยามสายใกล้เวลาฉันเพล ดิฉันแวะผ่านไปตรวจดูความคืบหน้าของโครงการขุดแต่งศึกษาทางโบราณคดีวัดพระยืนเพื่อผลักดันสู่มรดกโลกโดยบังเอิญ และแล้วก็ต้องตื่นตะลึงกับการขุดพบพระพิมพ์ดินเผาจำนวนมาก
จุดที่พบพระลือหน้ายักษ์นั้นอยู่ระหว่างพระเจดีย์ประธานกับพระวิหารหลวงหลังใหม่ ค่อนไปทางทิศใต้ ลึกจากพื้นดินเพียง ๘๐ เซนติเมตร สี่วันให้หลังคือในวันที่ ๒๔ มกราคม ดิฉันได้เชื้อเชิญบรรดาผู้ใหญ่ หัวหน้าส่วนราชการในลำพูน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านพระพิมพ์มาร่วมเป็นสักขีพยานตรวจสอบโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีราว ๕๐ ท่าน เป็นการเปิดให้ดูแบบโปร่งใสเพื่อป้องกันข้อครหาที่จะพึงมีต่อกรมศิลปากร
แต่แล้วพระลือหน้ายักษ์จำนวน ๑๑๗ องค์ (ขณะอยู่บนหน้าตักของกรมศิลปากรยังครบถ้วน) กลับอันตรธานไปสององค์ ถูกมือดีลูบคลำและลอบหยิบไปขณะเปิดให้ชมในวันที่ ๒๔ มกราคม ปัจจุบันจึงเก็บรักษาไว้ในคลังจังหวัดเพื่อความปลอดภัย เพราะหากเก็บไว้ที่วัดก็อาจสร้างความลำบากใจให้แก่เจ้าอาวาส ญาติโยมขอเข้ากุฏิหัวกระไดไม่แห้ง ใจจริงอยากนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หริภุญไชยให้รู้แล้วรู้รอด เผื่อว่าจะได้มีคนมาเยี่ยมชมชนิดหัวกระไดไม่แห้งกับเขาบ้าง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าไม่สามารถแบ่งกำลังมานอนเฝ้าหน้าตู้จัดแสดงได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง
หลังจากที่เซียนพระได้แลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่พักใหญ่ บ้างก็ว่าเก่าราว ๒๐๐ ปี บ้างก็ว่าใหม่แค่ ๘๐ ปี ผลสรุปจากความน่าจะเป็นก็คือการพบกันครึ่งทาง เมื่อเอาเลข ๘๐ ไปลบออกจาก ๒๐๐ ก็จะได้ตัวเลขสวย ๑๒๐ คือน่าจะสร้างราว พ.ศ. ๒๔๒๙ อันเป็นตัวเลขเดียวกันกับการที่ คุณนิพนธ์ สุขสมมโนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพิมพ์หริภุญไชยคนสำคัญ เคยอ้างถึงบันทึกของ ตรียัมปาวาย ว่าในปี พ.ศ.๒๔๒๙ ตุ๊เจ้าแสน หรือครูบาแสน วัดอัฏฐารส ได้นำแม่พิมพ์พระลือหน้ายักษ์มากดพิมพ์โดยใช้เศษดินเก่า แล้วได้นำไปโปรยหว่านแจกจ่ายตามวัดต่างๆ
เมื่อพิจารณาดูจากชั้นดินที่พบพระลือหน้ายักษ์นั้น เห็นว่าเป็นชั้นดินใหม่ค่อนข้างตื้น พระพิมพ์บางองค์นอนระเนนระนาดปะปนอยู่กับถุงพลาสติก และแม้เนื้อดินที่นำมากดพิมพ์นั้นจะทำจากเศษพระพุทธรูปดินเผาโบราณที่แตกหักซึ่งมีแอ่งรวมอยู่ที่วัดร้างดอนแก้วก็ตาม แต่ฝีมือการปาดพิมพ์ก็คนละชั้นกับช่างยุคหริภุญไชย
เจ้าหล้า ภูริพัฒน์ บรรณจักร์ ประธานชมรมพระเครื่องลำพูน ได้แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นการยากที่จะให้พบพระพิมพ์ที่วัดพระยืน เพราะในอดีตวัดพระยืนเป็นวัดป่า มีชื่อว่าวัดอรัญญิการาม ซึ่งพระสายวัดป่าจะเน้นการธุดงค์และวิปัสสนามากกว่าสายบ้าน (คามวาสี) ที่เน้นการปลุกเสกเครื่องรางของขลัง
แม้พระลือหน้ายักษ์ที่ได้จากวัดพระยืน จะไม่ช่วยพลิกประวัติศาสตร์หรือล้มล้างทฤษฎีอมตะข้อที่ว่า วัดพระยืนไม่มีพระพิมพ์ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้คำตอบที่คลำหากันมานานว่า พระลือหน้ายักษ์ที่ตุ๊เจ้าแสนกดพิมพ์ไว้เมื่อ ๑๒๐ ปีที่แล้ว ที่แท้ก็ข้ามฟากมาโปรยหว่านไว้ที่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ข้างลานประทักษิณของพระเจดีย์ประธานวัดพระยืนนี่เอง |