(D)
ชั่วโมงเซียน : พระเครื่องเมืองสรรค์ จ.ชัยนาท พระสรรค์นั่งพิมพ์ไหล่ยก หรือไหล่ขาด
พระเครื่องเมืองสรรค์ เป็นพระเครื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดังขจรขจายในด้านอิทธิปาฏิหาริย์ทางเมตตา แคล้วคลาด และอยู่ยงคงกระพัน เป็นที่เล่าขานและเป็นที่นิยมแสวงหาของนักนิยมสะสมพระเครื่องรุ่นอาวุโสมาเนิ่นนานแล้ว
เฉพาะที่ในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีนั้น อาจจะแบ่งแยกตามลักษณะสำคัญที่แตกต่างกันเป็นสองประการคือ พิมพ์หนึ่งเป็นพระพุทธลีลายืน นิยมเรียกกันว่า พระสรรค์ยืน และอีกพิมพ์หนึ่งเป็นพระปางประทับนั่ง เรียกสั้นๆ ว่า พระสรรค์นั่ง
ในที่นี้ผมจะได้หยิบยกเอา พระสรรค์นั่ง มาคุยกับท่านผู้อ่านเป็นลำดับแรกก่อน
พระสรรค์นั่ง เป็นพระพิมพ์แบบครึ่งซีก รูปลักษณ์หรือเค้าโครงส่วนใหญ่อยู่ในสัณฐาน ทรงกลีบบัวชะลูด องค์พระประทับนั่งปางมารวิชัย เป็นพระพิมพ์มีขนาดไม่สู้จะสูงใหญ่เท่าใดนัก ว่ากันโดยขนาดสูงก็เห็นจะไม่เกินนิ้วครึ่ง แต่อาจจะมีขนาดที่ใหญ่หรือเล็กลดหลั่นลงกว่าที่ว่านี้ เรียกว่าขนาดกำลังแขวน หรือจะเลี่ยมก็ไม่เปลืองทอง
พระสรรค์นั่ง แบ่งออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พระสรรค์นั่ง พิมพ์ไหล่ยก หรือ ไหล่ขาด โดยเรียกตามลักษณะสำคัญที่องค์พระคือ ถ้าพิจารณาดูตามภาพจะเห็นได้ว่าส่วนที่แสดงเป็นพระอังสะ (ไหล่) ข้างซ้ายขององค์พรจะยกสูงขึ้นกว่าระดับปกติ และพระอังสะ (ไหล่) ขาดตอนจากพระกร (แขน) ข้างซ้ายขององค์พระ นักพระเครื่องอาวุโสจึงนำเอาลักษณะตรงนี้มาตั้งเป็นชื่อ เรียกพิมพ์ว่า พระสรรค์นั่งไหล่ยก หรือ ไหล่ขาด
ว่ากันโดยลักษณะอันเป็นจุดเด่นๆ ของ พระสรรค์นั่ง พิมพ์ไหล่ยก หรือ ไหล่ขาด นอกเหนือจากเอกลักษณ์ของพิมพ์ดังกล่าวแล้ว ก็มีจุดน่าสนใจคือ องค์พระพักตร์ (หน้า) ที่ทำเป็นตุ่มนูน คางแหลม และต่อลงมาเป็นลำพระศอ (ลำคอ) จะไม่ปรากฏรายละเอียดในวงพระพักตร์ (หน้า) ให้เห็นเลย และถ้าเผอิญไปเจอะเอาพระสรรค์นั่งพิมพ์นี้มีหูมีตาละก็ โปรดวินิจฉัยได้เลยว่าเป็น พระเสริมสวย ที่เรียกกันว่า เมคอัพ เพราะของเดิมท่านไม่มี
ส่วนที่แสดงเป็นลำพระองค์ด้านบนคือ บริเวณพระอังสะทั้งสองข้างเกือบจะแนบราบ และในส่วนที่ต่ำลงมาจะค่อยๆ นูนสูงขึ้นจนถึงพระอุทร (ท้อง) จะนูนสูงสุด ดูพระพิมพ์นี้จะเห็นว่าท่านจะนั่งพุงพลุ้ยหรือพุงป่อง หรือจะเรียกท่านว่านั่งลงพุงก็ว่าได้
และถ้าพิจารณาในส่วนรวมๆ ท่านจะเห็นได้ว่า พระสรรค์นั่ง พิมพ์ไหล่ยก หรือไหล่ขาด ทั้ง ๔ พิมพ์นี้ มีรูปลักษณะเฉพาะองค์พระเหมือนกันทั้ง ๔ พิมพ์ แต่ถ้าได้แยกแยะในรายละเอียดจะเห็นได้ว่ามีข้อแตกต่างกันเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่ฐานอาสนะมีทั้งที่ทำเป็นบัวฟันหนู มีเส้นแซมชั้นเดียวและสองชั้นก็มี จนกระทั่งทำเป็นฐานเขียงสองชั้น ไม่ทำเป็นบัวก็มี ตลอดจนส่วนตกแต่ง ตามขอบพื้นผนังด้านหลังด้วยแล้ว
ในบางองค์ทำวิจิตรพิสดาร ดูประหนึ่งประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มโพธิ์ แบบ พระรอด แต่บางองค์ทำเป็นลายกนก และทำเป็นเม็ดไข่ปลา และยกขอบเป็นเส้นซุ้มแนบ เส้นลวดก็มี ล้วนแต่มีข้อแตกต่างในส่วนละเอียดหรือส่วนที่ตกแต่งอื่นๆ ต่างกันไปและยังมีมากกว่านี้
แต่ถ้าได้พิจารณาในส่วนประธานคือ องค์พระเป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น อันนี้แสดงว่านายช่างผู้แกะแม่พิมพ์ พระสรรค์นั่ง พิมพ์ไหล่ยก หรือไหล่ขาด เป็นคนคนเดียวกัน หรือสกุลช่างอย่างเดียวกัน แต่มีแม่พิมพ์หลายแบบหลายพิมพ์จึงมีข้อแตกต่างในส่วนละเอียดกันดังกล่าวแล้ว ตลอดจนขนาดก็มีเล็กใหญ่ลดหลั่นกันลงไป เอาเป็นข้อยุติไม่ค่อยจะได้
เท่าที่พบขนาดใหญ่จะสูงไม่เกินสองนิ้วเป็นอย่างมาก และเล็กสุดประมาณเท่าปลายนิ้วก้อย หรือสูงไม่ถึงหนึ่งนิ้ว หรือจะเรียกว่าเป็นพิมพ์เล็กจิ๋ว ก็มีเหมือนกัน แต่ทว่าหาได้ยากมาก
เนื้อ พระพิมพ์เมืองสรรค์ พิมพ์ไหล่ยก หรือไหล่ขาดนี้ เท่าที่พบเห็นส่วนมากเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผา ซึ่งมีส่วนผสมของว่านและเกสร มีทั้งชนิดดินละเอียดและหยาบ อย่างชนิดเนื้อชินเงิน ชินตะกั่ว สัมฤทธิ์และเนื้อว่านแท้ๆ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็มี แต่จำนวนน้อยกว่าเนื้อดิน
สี เกรนสีของพระสรรค์นั่ง พิมพ์ไหล่ยก หรือไหล่ขาด ถ้าเป็นชนิดเนื้อดินจะมีสีเหลือง สีพิกุล จนกระทั่งเข้มแบบสีเม็ดมะขาม สรุปแล้วมีแทบจะทุกเกรนสี จากอ่อนไปถึงแก่
กรุที่ขุดพบพระ คือ บริเวณวัดหรือโคกวัดเก่าๆ และตามพระเจดีย์ทั่วไปในบริเวณเมืองสรรค์เก่า ทั้งสองฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกและตะวันตกที่แล่นผ่าเมืองสรรค์ รวบรวมรายชื่อวัดที่ขุดได้พระเมืองสรรค์ทั้งพิมพ์นั่งและพิมพ์ยืน คือในท้องที่ ต.เที่ยงแท้ เมืองสรรค์บุรี อันประกอบด้วย ๑.วัดท้ายย่าน ๒.วัดพระนอน ๓.วัดขนุน ๔.วัดมเหยงค์ ๕.วัดวิหารทอง ๖.วัดตะเซา ๗.วัดน้อย ๘.วัดโคกอุดม ๙.วัดยอ ๑๐.วัดพระนาค ๑๑.วัดสระเจดีย์ ๑๒.วัดนก (สกุณาราม) และในท้องที่ ต.แพรกศรีราชา เมืองสรรค์บุรี อันได้แก่ ๑๓.วัดมหาธาตุ ๑๔.วัดแจ้ง ๑๕.วัดเรไร ๑๖.วัดไตรตรึงค์ ๑๗.วัดนางขือ ๑๘.วัดนางคำ ๑๙.วัดท่าวน ๒๐.วัดกลาง ต.โพธิ์งาม ๒๑.วัดท่าสมอ ๒๒.วัดรัก ๒๓.วัดยาง ในท้องที่ ต.บางขุด ๒๔.วัดดงบ้านดาบ ต.ดงดอน ๒๕.วัดกรุณา ต.โพธิ์งาม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีวัดอื่นๆ อีกมากที่ไม่ปรากฏนามอย่างเป็นทางการ เพราะได้ชำรุดทรุดโทรมชนิดไม่เหลือซาก บางกรุที่ขุดพบพระสรรค์พิมพ์ต่างๆ ทั้งพิมพ์นั่งและพิมพ์ยืนนั้น อยู่บนโคกอยู่ในท้องนา เป็นต้น และเท่าที่ขุดได้กันมา พระส่วนใหญ่จะเป็นพระพิมพ์เมืองสรรค์ทั้งพิมพ์นั่งและพิมพ์ยืนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีสอดแทรกอยู่ทั่วไปในอาณาบริเวณที่เป็นที่ตั้งของเมืองสรรค์บุรี ถึงจะมีพระพิมพ์อื่นปะปนอยู่บ้างก็เป็นจำนวนน้อยมาก เข้าใจว่าเป็นพระฝากกรุมากกว่าการจงใจสร้างในคราวเดียวกันกับพระพิมพ์เมืองสรรค์นั่งและยืน
ขอบคุณบทความจาก คม-ชัด-ลึก
|
|