ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : คุยเฟื่องเรื่องเหรียญๆๆ

(D)
การสร้างพระเครื่องให้อยู่ในรูปของเหรียญปั๊มนั้นมีข้อดีหลายประการ คือ ความสวยงามคมชัด หรือความคงทนของเหรียญเนื่องจากเป็นโลหะ ประการสำคัญคือใช้งบประมาณในการสร้างไม่มากนักเมื่อเทียบกับเนื้องาน ดังนั้นเหรียญจึงอยู่ในความนิยมของนักสะสมและผู้สนใจมาโดยตลอด

นักสะสมที่ชื่นชอบการสะสมเหรียญทั้งคณาจารย์และพระพุทธ ต่างก็มีวิธีการศึกษาจดจำ พิสูจน์ความแท้-ปลอมของเหรียญต่างกันออกไป เช่น การจำตำหนิบนเหรียญ ดูการตัดขอบเหรียญ หรือดูความเป็นธรรมชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความช่างสังเกตุ จดจำ สะสมข้อมูลเป็นเวลาพอสมควรหรืออาจกล่าวง่ายๆว่าต้องใช้ประสบการณ์ในการเล่น

วิธีการจำแนกความแท้-ปลอม ของเหรียญที่ดีวิธีหนึ่งก็คือ การทำความเข้าใจธรรมชาติของเหรียญ ซึ่งในที่นี้จะเล่าถึงวิธีการสร้างเหรียญทั้งแท้และปลอม เพราะทั้งสองแบบมีวิธีการต่างกันและเป็นที่มาของการสังเกตแยกแยะ

การสร้างเหรียญปั๊มในปัจจุบันนี้สามารถจำแนกออกตามวิธีการสร้างคือ เหรียญตัวตัด เหรียญตีปลอก และเหรียญข้างเลื่อย เหรียญทั้งสามแบบจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป เนื่องจากวิธีการทำต่างกัน ซึ่งจะเล่าคร่าวๆดังนี้

1.เหรียญตัวตัด ถือว่าเป็นวิธีการที่นิยมกันมากเนื่องจากสะดวก ง่าย และไม่เปลืองอุปกรณ์และเวลา ซึ่งเหรียญที่สร้างหลังปี 2500 มา ที่เรียกว่าเหรียญตัวตัดนั้นเกิดจากขั้นตอนในการปั๊มต้องมีการใช้พิมพ์ตัดเพื่อตัดเหรียญที่ปั๊มออกมาให้มีขนาดตามที่ต้องการ โดยก่อนที่จะปั๊มนั้นต้องตัดโลหะที่จะปั๊มเป็นเหรียญให้มีขาดใหญ่กว่าเหรียญก่อน เมื่อปั๊มออกมาได้รายละเอียดตามแม่พิมพ์แล้ว ก็ต้องนำไปตัดให้ได้ขนาดแล้วค่อยนำไปเจาะหูเหรียญต่อไป

2.เหรียญตีปลอกนั้นโดยมากพบในเหรียญยุคเก่า วิธีการปั๊มนั้นต้องมี ปลอก ซึ่งทำจากโลหะที่มีรูปร่างตามรูปเหรียญที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปไข่ เสมา หรือเหรียญกลม ปลอกที่ว่านี้จะสวมอยู่กับเครื่องปั๊มมีหน้าที่คอยบังคับไม่ให้เนื้อโลหะเกินออกไปจากรูปเหรียญ ดังนั้นเมื่อปั๊มเสร็จแล้วก็ไม่ต้องนำไปตัดอีก เพราะเหรียญที่ได้จะออกมาเป็นรูปที่ต้องการเลย ซึ่งเหรียญเก่าๆที่ใช้การเชื่อมหูเหรียญนั้นจะพบว่าทำด้วยวิธีนี้ แต่เหรียญหูในตัวที่ใช้การตีปลอกก็ยังมีให้พบเห็น เช่น เหรียญพ่อท่านซัง วัดวัวหลุง เหรียญหลักของทางใต้เหรียญหนึ่งชึ่งเป็นรูปไข่หูในตัว

3.เหรียญข้างเลื่อยนั้นวิธีการเหมือนกับเหรียญตัวตัดทุกประการต่างกันที่เมื่อปั๊มออกมาแล้วก็ใช้แรงคนเลี่อยปีกเกินของเหรียญออกให้ได้รูป จะพบในเหรียญเก่าๆ เช่น หลวงพ่อคง วัดศรัทธาราษฎร์ ราชบุรี เป็นต้น

ทั้งสามแบบที่เล่ามานั้นมีเอกลักษณ์และธรรมชาติในตัว ที่แตกต่างกันออกไป เหรียญตัวตัดนั้นแน่นอนว่าต้องมีรอยตัดอยู่ที่ข้างเหรียญ เป็นรอยที่เกิดจากโลหะตัดโลหะซึ่งจะเหมือนกันทุกเหรียญเพราะตัดจากตัวตัดเดียวกัน ส่วนเหรียญตีปลอกโดยมากจะพบรอยปลิ้นของเนื้อโลหะบริเวณขอบเหรียญ ข้างเหรียญ ซึ่งเกิดจากปลอกที่สวมบังคับไว้มีการเขยื้อนตามแรงปั๊มของเครื่องจักร สุดท้ายเหรียญข้างเลื่อยที่จะมีรอยเลื่อยอยู่ที่ขอบเหรียญ สังเกตุได้ว่าต่างจากการตัดด้วยตัวตัด เพราะการใช้คนเลื่อยนั้นย่อมมีความไม่สม่ำเสมอเหมือนใช้เครื่องจักร นอกจากนี้แล้วยังมีการสร้างเหรียญแบบปลีกย่อยอีก เช่น ตัดด้วยตัวตัดแล้วมาใช้เครื่องเจียรให้ขอบเหรียญเรียบ (พระธาตุพนมช่วยไทย) หรือ ตัดแล้วมาตะไบซ้ำ(25 พุทธศตวรรษ พิมพ์เสมา) เป็นต้น

ต่อไปจะขอเล่าถึงการทำเหรียญปั๊มแท้ว่ามีวิธีการทำอย่างไร เพราะวิธีการทำนั้นจะเป็นที่มาของการแยกแยะความแท้-ปลอม

ก่อนจะเริ่มปั๊มเหรียญแท้นั้น ต้องมีการแกะพิมพ์โดยใช้ช่างแกะพิมพ์ที่มีความชำนาญ แกะตามแบบที่ตกลงกับทางวัดหรือผู้สั่งทำว่าจะให้มีรายละเอียดอะไรบ้าง มีตัวหนังสือบอกอะไร รูปร่างเหรียญเป็นแบบใด การแกะแบบจะทำบนท่อนเหล็กปาดหน้าเรียบ เมื่อแกะเสร็จแล้วก็จะมีการชุบท่อนเหล็กดังกล่าวให้แข็ง เพื่อนำไปทำเป็นบล๊อค ซึ่งจะต้องมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เมื่อได้บล๊อคออกมาแล้วก็นำไปติดตั้งบนเครื่องปั๊ม เพื่อทำการปั๊มเหรียญออกมา หากเป็นชนิดเหรียญตัวตัดก็ต้องมีการทำพิมพ์ตัดให้มีรูปร่างตามที่ต้องการไว้ หากเป็นแบบตีปลอกก็ต้องสร้างปลอกให้มีขนาดเท่ากับรูปร่างที่ต้องการแล้วนำไปสวมบังคับไว้กับเครื่องปั๊ม ส่วนเหรียญข้างเลื่อยจะไม่มีขั้นตอนพวกนี้ เมื่อปั๊มได้จำนวนเหรียญตามต้องการแล้ว ก็นำไปตัด เจาะหู รมดำ หรือลงกะไหล่ต่อไป

จุดสำคัญของเหรียญแท้นั้นอยู่ที่บล๊อคและตัวตัด บล๊อคที่ทำจากเหล็กกล้าชุบแข็งจะมีความแข็งมากกว่าโลหะที่นำมาใช้เป็นเนื้อเหรียญ เครื่องปั๊มจะปั๊มได้เต็มกำลังทำให้เกิดความตึงแน่นบนเนื้อเหรียญ รายละเอียดคมชัด และที่เรียกกันว่าผิวไฟที่เกิดจากการกระแทกอย่างแรงระหว่างโลหะต่อโลหะ เกิดเสี้ยนสาดกระจายออกรอบๆผิวเหรียญ ตัวตัดแต่ละตัวจะมีรอยตัดที่ไม่ซ้ำกันและเป็นสิ่งที่ถอดพิมพ์ไม่ได้ เราจะเห็นว่าหลายๆเหรียญพิสูจน์ความแท้-ปลอม โดยการดูที่ตัวตัด เช่น เหรียญเลื่อนสมณศักดิ์ หลวงปู่ทวด ปี 08 หรือ เหรียญพุฒซ้อน หลวงปู่ทวด ปี 09 เป็นต้น

ส่วนเหรียญปลอมจะเริ่มต้นด้วยการถอดพิมพ์ โดยนำเหรียญต้นแบบที่มีความคมชัด ไม่มีรอยกลากหรือกาบโลหะ มาถอดพิมพ์ด้วยยางซิลิโคลน ทั้งด้านหน้าและหลัง ยางซิลิโคลนจะเก็บรายละเอียดทุกอย่างบนเหรียญแท้ไว้ แล้วจึงนำยางซิลิโคลนดังกล่าวไปเหวี่ยงขึ้นรูปเป็นบล๊อกแม่พิมพ์ ซึ่งจะทำด้วยทองเหลือง เมื่อได้บล๊อกมาแล้วก็จะดำเนินการตามวิธีการสร้างเหรียญแท้ทุกประการ ถ้าเหรียญต้นแบบใช้ตัวตัดก็จะทำตัวตัดขึ้นมา ดังนี้แล้วความเชื่อที่ว่าขอบเหรียญปลอมต้องมีรอยตะไบ เพราะเหรียญปลอมไม่ได้ใช้ตัวตัดตัดออกมานั้น ควรต้องความเชื่อเสียใหม่ เพราะเหรียญปลอมยุคนี้ใช้วิธีการเดียวกันทุกประการ แม้กระทั่งเจาะหูเหรียญก็ใช้เครื่องเจาะเช่นกัน จุดที่ควรจะดูควรเป็นรอยตัดของตัวตัดมากกว่าว่าเป็นตัวตัดแท้หรือไม่ อาจใช้การจดจำจุดที่เป็นรอยเด่นๆ หรือให้ง่ายเข้าก็ควรมีเหรียญที่แท้แน่นอนไว้เทียบรอยตัด วิธีนี้แน่นอนมาก

จุดสำคัญของเหรียญปลอมนั้นอยู่ที่บล๊อคที่ทำจากทองเหลืองนั้นมีความแข็งไม่เท่ากับเหล็กกล้า ทำให้การปั๊มทำได้ไม่เต็มกำลังเครื่องปั๊ม หากว่าให้แรงเครื่องจักรเต็มที่แล้วก็จะทำให้บล๊อคแตกเสียหาย ผู้ทำปลอมต้องใช้วิธีการปั๊มซ้ำๆกันหลายๆครั้งจนกว่ารายละเอียดของเหรียญจะปรากฎตามต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคมชัดของเหรียญปลอมจะสู้เหรียญแท้ไม่ได้ แต่การจะสังเกตุออกได้ต้องมีประสบการณ์ดังที่กล่าวไปตอนต้น หรือ นำมาเทียบกันดู และรอยตัดของตัวตัดจะไม่เหมือนกันกับเหรียญแท้

การได้เห็นเหรียญบ่อยๆไม่ว่าแท้หรือปลอมจะทำให้แยกแยะได้ดีขึ้น และควรจะดูผสมกันไปทั้ง ตำหนิ ตัวตัด ธรรมชาติความคมชัด หากไปเน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วอาจทำให้ผิดพลาดได้ เช่น เหรียญหลวงปู่เพิ่มวัดกลางบางแก้ว รุ่นแรก ที่มีรอยจารอยู่ด้านหลัง ซึ่งเข้าใจกันว่าปลอมยาก หรือไม่สามารถทำรอยจารให้เหมือนของจริงได้ ซึ่งสำหรับหรียญนี้ถือว่าเป็นเหรียญปราบเซียนเลยทีเดียว คือถอดติดแม้กระทั่งรอยจารบนเหรียญ ถ้าจำเพียงลายมือจารอย่างเดียวรับรองได้ว่าเรียบร้อย

มีอะไรที่เหรียญปลอมถอดไม่ติดหรือไม่?

มีแน่นอน แต่ผู้ที่รู้และชำนาญก็มักจะหวงแหนไม่ยอมถ่ายทอดให้ใคร เนื่องจากเป็นเคล็ดลับส่วนตัว ซึ่งแต่ละท่านจะมีจุดตาย หรือตำหนิที่ดูต่างกัน แต่สุดท้ายก็ต้องมาดูธรรมชาติของเหรียญอยู่ดี บางท่านมีประสบการณ์สูง เห็นเหรียญมามาก ก็จะทำให้ดูได้รวดเร็ว แม่นยำ

จำเป็นหรือไม่ที่เหรียญปลอมต้องบวม?

ไม่จำเป็นเลย ส่วนใหญ่ที่พบว่าบวมจะเป็นเหรียญปลอมสมัยเก่าที่วิธีการปั๊มไม่ดีนัก อุปกรณ์ไม่ทันสมัย ปั๊มได้ไม่ดีนักเหรียญก็จะบวม แต่เหรียญปลอมรุ่นใหม่ๆนั้นไม่บวมแล้ว เว้นแต่ว่าเหรียญแม่แบบจะบวม ซึ่งก็มีเหรียญแท้บางรุ่นที่บวม เช่น เหรียญหลวงพ่อปาน วัดบาง*** ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ปี 91 ซึ่งเล่นหากันในราคาสูงพอสมควร ถึงแม้จะเป็นเหรียญตายก็ตาม เหรียญนี้ก็บวมด้านหน้าทั้งที่เป็นเหรียญแท้ เป็นต้น

สำหรับเราๆท่านๆที่สะสมนั้นจะทำอย่างไรให้รอดปลอดภัยจากเหรียญปลอม อย่างแรกที่ต้องทำคือ ทำใจ อาจจะฟังดูท้อถอยไปบ้าง แต่เป็นเรื่องจริง เล่นใหม่ๆหัดดูใหม่ๆ ต้องโดนของปลอมบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่โดนแล้วศึกษา เรียนรู้ ให้ผิดเป็นครู ก็จะดีขึ้นๆ ส่วนใครที่เล่นมาไม่เคยโดนเลย(โดยเฉพาะเหรียญ)ก็ถือเป็นบุญวาสนาของท่านอย่างยิ่ง ซึ่งผมมีวิธีการง่ายๆมาเสนอ ดังนี้

1.ศึกษาประวัติความเป็นมาของการสร้างเหรียญให้ชัดเจน ว่าสร้างจำนวนเท่าใด มีเนื้ออะไรบ้าง มีกี่บล๊อค มีโค๊ตใดๆหรือไม่ ถ้าจะให้ดีควรรู้ว่าสร้างด้วยวิธีใด ตัวตัด ตีปลอก หรือ เลื่อย เหล่านี้อาจใช้วิธีสอบถามเอาจากผู้รู้ที่รู้จริง และมีความเต็มใจที่จะให้ข้อมูล
2.ศึกษาเหรียญจากรูปภาพ โดยดูจากสื่อต่างๆหรือไปซื้อรูปถ่ายมาเองจากร้านถ่ายรูปพระ เช่นที่ท่าพระจันทร์ก็มีขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหรียญแท้ ส่วนการดูรูปจากสื่อต่างๆก็ควรเลือกที่เชื่อถือได้
3.เช่าเพื่อศึกษาและใช้เทียบ คือเราไปเช่าเหรียญมาจากผู้ที่รู้จริง ไว้ใจได้ เพื่อมาดูว่าเหรียญนี้มีตำหนิ มีธรรมชาติอย่างไร และเวลาจะเช่าเหรียญที่เป็นรุ่นเดียวกันก็สามารถเอาไว้ใช้เทียบได้
4.ไม่ต้องอายที่จะควักเหรียญของเรามาส่องเทียบ เพราะเซียนใหญ่ มีชื่อเสียงแล้วเขาก็ทำกัน เพื่อความปลอดภัย
5.อย่าโลภ ของดี ราคาถูกนั้นไม่มีสำหรับคนที่ยังไม่ชำนาญ หรือมีก็น้อยมาก (เช่าเพื่อหวังฟลุ๊ค คนที่ฟลุ๊คจริงๆคือคนที่เอาพระมาให้ท่านเช่าครับ อยู่ดีๆมีคนเอาเงินมาให้ ) และอย่าเช่าทั้งๆที่ไม่แน่ใจ แต่บางท่านชอบเสี่ยงและมีกำลังเสี่ยงก็ไม่ห้ามกันครับ สุดท้ายคือ
6.สะสม เช่าหา ด้วยสติและควรมีที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้ และทำตัวเป็นนักเรียนอยู่เสมอ

เรื่องราวที่เล่าสู่กันฟังเรื่องนี้อาจจะยาวไปสักนิดนะครับ หากมีข้อผิดพลาดประการใดนั้นผมขอน้อมรับไว้ด้วยความเต็มใจ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งหากมีผู้รู้ช่วยเสริมเติมส่วนที่ขาด หรือแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาด
ขอขอบคุณทุกๆท่านที่สละเวลาอ่านครับ(ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ)

โดยคุณ อนุวัตร (664)  [อ. 10 พ.ค. 2548 - 22:20 น.]



โดยคุณ พันชาติ (499)  [พ. 11 พ.ค. 2548 - 05:56 น.] #4896 (1/9)
ยอมเยี่ยมครับว่างๆเขียนมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับ

โดยคุณ เอกจิตต์ (1K)  [พ. 11 พ.ค. 2548 - 18:59 น.] #4903 (2/9)
เยี่ยมมากๆ...

โดยคุณ duckman (92)(1)   [พ. 11 พ.ค. 2548 - 19:46 น.] #4904 (3/9)
ข้อมูลเยี่ยมจริงๆ

โดยคุณ อนุวัตร (664)  [พ. 11 พ.ค. 2548 - 20:06 น.] #4906 (4/9)
ขอบคุณครับ
ผมเพิ่งจะสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ยังไงก็ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ และยินดีน้อมรับคำชี้แนะของทุกๆท่านครับ
ปล.แล้วผมจะเสาะหาข้อมูลที่ผมเห็นว่าอาจเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยมาฝากอีกครับ

โดยคุณ หมอเมืองเพชร  [พ. 11 พ.ค. 2548 - 23:46 น.] #4908 (5/9)
-ยอดเยี่ยมครับคุณอนุวัตร .
-ตอนนี้ต้องทำใจหน่อยนะครับ เพราะการดูเหรียญดูจากกล้อง 10x ทำให้พิจารณาลำบากสำหรับมือใหม่ครับ.
-อีกไม่นานเราจะมีวิธีการดูพระแบบใหม่ซึ่งง่ายกว่าเดิมมาก ไม่ต้องใช้ประสบการณ์นานเป็นสิบๆปีในการแยกพระเก๊-แท้ อย่างถูกต้องแม่นยำกว่าปัจจุบันนี้ แต่ต้องรออีกสักนิดนะครับเพราะผมกำลังจัดฐานข้อมูลของหอสมุดพระเครื่องเมืองไทยอยู่ครับ ถ้าเสร็จเกิน 50% แล้วถึงจะนำเสนอวิธีการดูแนวใหม่นี้ครับ ไม่นานเกินรอครับ.

โดยคุณ เอ_วัดเสด็จ (5.1K)  [พฤ. 12 พ.ค. 2548 - 10:17 น.] #4911 (6/9)
แจ่มคร้าบบบท่านพี่

โดยคุณ suprom (272)  [ศ. 13 พ.ค. 2548 - 15:02 น.] #4933 (7/9)


(D)
แจ๋วจริง

โดยคุณ เอกจิตต์ (1K)  [อา. 15 พ.ค. 2548 - 00:04 น.] #4961 (8/9)
อยากเห็นเร็วๆจังครับอาจารย์หมอ...

โดยคุณ กาละแม (1.5K)  [อา. 15 พ.ค. 2548 - 09:29 น.] #4962 (9/9)
ขอบคุณคร้าบบบ........บ........

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1