เห็นคนทายกันเยอะ เลยลงประวัติของท่านให้ชมครับ
--------------------------------
พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ (4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558) เป็นพระเกจิอาจารย์ อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่
เนื้อหา
1 ประวัติ
1.1 อุปสมบท
1.2 สมณศักดิ์
2 มรณภาพ
3 อ้างอิง
4 แหล่งข้อมูลอื่น
ประวัติ
หลวงพ่อคูณ เกิดในชื่อและนามสกุลทางโลกคือ คูณ ฉัตร์พลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466[1] ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรชายคนโตของบุญ (บิดา) และทองขาว (มารดา) ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาสามคนคือ
พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ)
คำมั่น วงษ์กาญจนรัตน์ (เป็นหญิง)
ทองหล่อ เพ็ญจันทร์ (เป็นหญิง)
โยมบิดามารดาของหลวงพ่อคูณ เสียชีวิตลงขณะที่ลูกทั้งสามยังเด็ก เด็กชายคูณกับน้องสาวทั้งสอง จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่เด็กชายคูณมีอายุราว 6-7 ขวบ เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ, พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้งสาม ยังอบรมสั่งสอนคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้ด้วย เด็กชายคูณจึงมีความรู้ในวิชาไสยศาสตร์มาแต่บัดนั้น[1]
อุปสมบท
คูณ ฉัตร์พลกรัง อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487[1] ปีวอก อุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า ปริสุทฺโธ หลังจากนั้น หลวงพ่อคูณฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คน และลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
หลวงพ่อคูณอยู่ปรนนิบัติรับใช้ หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้งสองรูปนี้เป็นเพื่อนกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ เวลาล่วงเลยมานานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริก ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป ระยะแรกหลวงพ่อคูณธุดงค์จาริก อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา จากนั้นจึงจาริกไกลออกไป กระทั่งถึงประเทศลาว และประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และอุปาทานทั้งปวง
หลังจากที่พิจารณา เห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางกลับสู่ประเทศไทย เดินข้ามเขตแดนทางจังหวัดสุรินทร์ สู่จังหวัดนครราชสีมา กลับสู่ถิ่นเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำริให้ก่อสร้างวัด ให้เป็นถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2496 นอกจากนั้น หลวงพ่อคูณยังดำริให้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค ทั้งจัดสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนละแวกนี้อีกด้วย
สมณศักดิ์
12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 : เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิทยาคมเถร[2]
10 มิถุนายน พ.ศ. 2539 : เป็นพระราชาคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[3]
12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 : เป็นพระราชาคณะชั้นเทพฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[4]
มรณภาพ
เมื่อเวลาประมาณ 05:45 น. ของวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 พนักงานพยาบาลที่ดูแลหลวงพ่อคูณอยู่ที่วัดบ้านไร่ พบว่าหลวงพ่อมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว จึงรีบแจ้งให้แพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และโรงพยาบาลด่านขุนทดมาวินิจฉัยโดยด่วน ซึ่งคณะแพทย์ตรวจประเมินว่า หลวงพ่อคูณหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น จึงปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง อยู่เป็นเวลา 1 ชั่วโมง กระทั่งอาการทรงตัว จึงใส่เครื่องช่วยหายใจ พร้อมทั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ จากนั้นเมื่อเวลา 08:30 น. จึงรีบส่งเข้ารักษาต่อ ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาโดยด่วน พบว่ามีลมรั่วเข้าภายในปอดฝั่งซ้าย และมีเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ จึงให้หลวงพ่อพักรักษาตัว ภายในหอผู้ป่วยวิกฤตอายุรกรรม (ไอซียู) โดยจัดคณะแพทย์และพยาบาล เฝ้าระวังดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสัญญาณชีพของหลวงพ่อยังไม่คงที่[5]
จากนั้นคณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราช เข้าร่วมทำการวินิจฉัยและรักษา กับคณะแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาด้วย ต่อมาเวลา 20:00 น. คณะแพทย์รายงานผลการตรวจรักษาหลวงพ่อว่า สัญญาณชีพยังไม่คงที่ ต้องใช้ยากระตุ้นหัวใจ และเครื่องช่วยหายใจ ขณะเดียวกัน มีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก ร่วมกับมีภาวะไตหยุดทำงาน เป็นผลให้ไม่มีปัสสาวะออกจากร่างกาย ทั้งนี้ภาวะผิดปกติที่แทรกซ้อนขึ้นทั้งหมด เกิดจากปอดและหัวใจ หยุดทำงานเป็นเวลานาน[6] และรุ่งขึ้น (วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม) เมื่อเวลา 10:00 น. คณะแพทย์ผู้รักษารายงานว่า มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นผลให้มีเลือดออกในช่องทรวงอก จึงทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์จึงทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง สำหรับภาวะไตหยุดทำงาน คณะแพทย์ใช้เครื่องไตเทียมทำการฟอกเลือด[7]
จนกระทั่งเวลา 11:45 นาฬิกา คณะแพทย์ออกประกาศแจ้งว่า พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) มีอาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพลงขณะทำการรักษา ภายในห้องอายุรกรรมผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71[8] ซึ่งในการแถลงข่าวโดยคณะแพทย์ผู้รักษา เมื่อเวลา 12:15 น. น.พ.พินิศจัย นาคพันธุ์ แพทย์อายุรกรรมหัวใจชำนาญการ ผู้รักษาประจำของหลวงพ่อคูณ ในสถานะหัวหน้าคณะแพทย์กล่าวว่า สาเหตุแห่งการมรณภาพ เนื่องจากการหายใจหยุดลง เพราะมีลมรั่วเข้าไปภายในปอด หรือที่เรียกว่าปอดแตก เป็นเหตุให้หัวใจหยุดเต้น เนื่องจากคณะแพทย์ต้องช่วยปั๊มหัวใจ เป็นเวลานานถึง 1 ชั่วโมง ทั้งที่หากสมองขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที ก็เข้าสู่ภาวะวิกฤตแล้ว หลังจากนำหลวงพ่อมายังโรงพยาบาล ก็พยายามช่วยกันเต็มที่ เมื่อเวลาประมาณ 05:40 น. ยังต้องปั๊มหัวใจเพิ่มถึงสองรอบ แต่ด้วยความที่หลวงพ่อ อยู่ในภาวะที่ไม่รับรู้ใด ๆ นับแต่หมดสติที่วัดบ้านไร่แล้ว เมื่อการหายใจหยุดลง และหัวใจหยุดเต้นเป็นเวลานาน ก็ส่งผลให้อวัยวะอื่นๆ วิกฤตลงตามไปด้วย คือเข้าสู่ภาวะสมองตายตั้งแต่แรก ต่อมาแพทย์พยายามยื้อหัวใจ และต่อมาปอด จนมาถึงไต แต่แล้วสุดท้าย อวัยวะสำคัญก็ล้มเหลวลงทั้งหมด หลวงพ่อจึงถึงแก่มรณภาพดังกล่าว[9]
จากนั้นมีการเปิดเผยพินัยกรรม ซึ่งหลวงพ่อคูณทำไว้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543 มีใจความสำคัญระบุให้มอบสังขาร แก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่มรณภาพ แล้วให้ทางมหาวิทยาลัยมอบให้แก่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นำไปศึกษาค้นคว้า ตามวัตถุประสงค์ของภาควิชา สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา และการสวดพระอภิธรรม ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีขึ้นที่คณะเป็นเวลา 7 วัน ส่วนการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้า ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดอย่างเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ ทั้งห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธี อื่นๆ เป็นกรณีพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีเช่นเดียวกับที่จัดให้แก่ อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ประจำปี ร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผาที่ฌาปนสถานวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (หรือวัดแห่งอื่น) และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย ตามที่เห็นสมควรและเหมาะสม โดยมีสักขีพยานประกอบด้วย รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ขณะนั้น), ญาติ, ไวยาวัจกรวัดบ้านไร่ (ขณะนั้น) และนิติกรชำนาญการ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามเป็นหลักฐาน[10]
ทั้งนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ร่วมกันประชุมและลงมติให้ดำเนินการ ตามพินัยกรรมฉบับดังกล่าวทุกประการ โดยไม่มีการนำไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านไร่เสียก่อน ดังที่มีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งร้องขอแต่อย่างใด ซึ่งมีการเคลื่อนสังขารของหลวงพ่อคูณ ออกจากโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เมื่อเวลา 20:00 น.[11] โดยไปถึงศาลา 25 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อเวลาประมาณ 22:00 น. เพื่อบรรจุสังขารลงในโลงแก้ว จากนั้นรุ่งขึ้น (วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม) เวลาประมาณ 14:00 น. คณะลูกศิษย์พากันจัดริ้วกระบวน เพื่อเคลื่อนสังขารหลวงพ่อคูณ ไปยังศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นเอง เพื่อตั้งสังขารบำเพ็ญกุศลและสวดพระอภิธรรม เป็นเวลา 7 วัน ตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่ วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม ถึงวันอังคารที่ 25 สิงหาคม ระหว่างเวลา 06:00-23:00 น. สำหรับสาเหตุที่ต้องเคลื่อนสังขารอีกครั้ง เนื่องจากศูนย์ประชุมดังกล่าว เป็นสถานที่กว้างขวางสะดวกสบาย สามารถรองรับพุทธศาสนิกชน ซึ่งเดินทางมาสักการะสังขารอย่างทั่วถึง[12]
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พวงมาลา 12 พวง โดยมอบหมายให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมทั้งพระราชทานโกศโถบรรจุศพ พร้อมฉัตรเบญจาเป็นกรณีพิเศษ[13]
ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562, พิธีพระราชทานเพลิงพระศพหลวงพ่อคูณจะจัดขึ้น ณ เมรุชั่วคราว มหาวิทยาลัยขอนแก่น |
|