ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : ตามกระแสจตุคามรามเทพ : กรณีเทพบันดาล - ธรรมบันดาล



(D)
ผมเขียนบทความนี้ไว้นานแล้วครับ น่าจะสัก 2 เดือนที่แล้ว (เป็นข้อมูลเก่า - ข้อมูลบางอย่างจึงยังไม่อัพเดท) ลองๆ อ่านดูครับ

---------------------------------------
ตามกระแสจตุคามรามเทพ :
กรณีเทพบันดาล - ธรรมบันดาล


เกริ่นนำ
กระแสการนับถือองค์จตุคามรามเทพที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง และอย่างต่อเนื่องแบบไม่มีทีท่าว่าจะลดลงอยู่ในเวลานี้ มีคนไทยให้ความสนใจ(ศรัทธา) และเช่าบูชามากถึงมากที่สุด (จนทำให้ในปี ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา มีการคำนวณว่าทำให้เกิดเงินหมุนเวียนสะพัดในตลาดนับหมื่นล้านบาท) โดยการเช่าหามาบูชาไว้ประจำตัว มองไปทางไหนๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่สาธารณะ ป้ายรถเมล์ ถนนหนทาง โรงแรม โรงเรียน ร้านอาหาร สถานที่ราชการ ฯลฯ ก็มีแต่คนแขวนองค์จตุคามรามเทพเต็มไปหมด แทบจะทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดง จนถึงคนแก่คนเฒ่าก็นิยมแขวนกัน (ทั้งแบบโชว์ให้เห็นนอกเสื้อ และที่อยู่ในเสื้อ) ซึ่งมองเห็นแต่ไกลก็สะดุดตาทันที ด้วยรูปลักษณ์ที่ออกแบบสวยงามและใหญ่โตกว่าพระเครื่องใดๆ และในวงสนทนาหรือสภากาแฟเอง นอกเหนือจากจะพูดคุยกันเรื่องการบ้านการเมืองแล้ว ก็หนีไม่พ้นเรื่องจตุคามรามเทพ เรียกว่าเป็นการเพิ่ม “รสชาติ” ให้วงสนทนาได้ครึกครื้นขึ้นไปอีก ยิ่งไปกว่านั้น ทราบว่าขณะนี้กระแสการนับถือองค์จตุคามรามเทพยังได้รับความนิยม หรือ “ฮิต” ไปถึงต่างประเทศด้วย (เรียกว่า “โกอินเตอร์”) เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เป็นต้น

มีคนกล่าวว่า ในยุคสมัยที่บ้านเมืองกำลังสับสนวุ่นวาย เศรษฐกิจกำลังจ่อปากเหว เงินบาทจะแข็งค่า น้ำมันจะแพง รายได้รัฐเก็บภาษีได้ต่ำกว่าเป้า เงินคงคลังร่อยหรอ ประชาชนรอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ความเดือดร้อนลามถึงปากท้อง ประชาชนเริ่มรู้สึกว่าถูกปล่อยให้เผชิญโชคกันตามยถากรรม คนไร้ที่พึ่งจึงต้องหันมายึด “วัตถุมงคล”

อันที่จริง คนไทยกับวัตถุมงคล (คำว่า “วัตถุมงคล” ในบทความนี้จะหมายรวมถึงพระเครื่องทุกชนิด (ได้แก่เหรียญหล่อ เหรียญปั๊ม พระกริ่ง พระผง พระกรุ พระสมเด็จ ฯลฯ) พระบูชา ภาพถ่าย ภาพวาด รวมทั้งเครื่องรางของขลังอื่น ๆ เช่น มีดหมอ เบี้ยแก้ ปลัดขิก ตะกรุด ผ้าประเจียด แผ่นยันต์ เสื้อยันต์ เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ สีผึ้ง อิ้น แม่เป๋อ ฯลฯ ด้วย) นับว่าเป็นของคู่กันมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สังเกตได้จากเมื่อเกิดศึกสงคราม คนไทยหรือทหารไทยก็ได้อาศัยวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับข้าศึก จนสามารถกู้ชาติบ้านเมืองได้สำเร็จก็หลายครั้ง (แต่คนที่อาศัยวัตถุมงคล เพื่อจุดประสงค์อื่น (ที่ไม่ใช่เพื่อกู้ชาติบ้านเมือง) ก็มีมากเหมือนกัน) และกระแสการนับถือวัตถุมงคลเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน แต่อาจจะมากน้อยกว่ากันตามยุคสมัยและความนิยมในวัตถุมงคลนั้นๆ

ณ เวลานี้ วัตถุมงคลที่ได้ชื่อว่ามีกระแสการตอบรับมากที่สุด และแพร่หลายกว้างขวางที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏในวัตถุมงคลใด ๆ มาก่อน (ยืนยันว่าไม่เคยปรากฏมาก่อน) เห็นจะไม่มีวัตถุมงคลใดเกิน “จตุคามรามเทพ” เพราะในช่วงเวลาสั้น ๆ (ถ้านับตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการจัดสร้าง จนถึงบัดนี้ก็นับได้ ๒๐ ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาที่มีการสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่สมัยอดีต) มีการจัดสร้างมากมายหลายรุ่น คาดว่าขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ รุ่น ทั่วประเทศ และที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช (รวมทั้งที่ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดขององค์จตุคามรามเทพ ก็มีคิวการปลุกเสกยาวเหยียดไปจนถึงต้นปี ๒๕๕๑ เลยทีเดียว ซึ่งทราบมาว่า มีพิธีกรรมปลุกเสกไม่น้อยกว่าวันละ ๓ รุ่น จากภาคต่างๆ ของประเทศทยอยเข้าไปทำพิธีปลุกเสกในวัด (ความจริง แต่ละรุ่นก็มีการประกอบพิธีปลุกเสกในหลายแห่งหลายที่ รวมทั้งบนเครื่องบิน บนเรือรบหลวงกลางทะเลเป็นต้น แต่ที่นิยมและขาดเสียไม่ได้ ก็คือที่วัดพระมหาธาตุ ฯ นี้ด้วย) และคาดว่ากว่าจะสิ้นปี อาจมีผู้มาขอใช้วัดเป็นสถานที่ปลุกเสกมากถึง ๘๐๐ ราย (๘๐๐ รุ่น) และก็แปลกที่แม้จะมีการสร้างมากมายหลายร้อยรุ่น เป็นจำนวนเป็นล้านๆ ชิ้น แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของคน และราคาก็ไม่เคยตกเลย !

ความจริง วัตถุมงคลจตุคามรามเทพมีการจัดสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๐ (พระผงสุริยัน – จันทรา) โดยมีท่านขุนพันธ์ (พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช) สมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นผู้ริเริ่มหรือต้นตำรับในการจัดสร้าง เพื่อหาทุนเอามาสร้างศาลหลักเมือง สนนราคาที่ ๓๙ บาท สำหรับองค์เล็ก และ ๕๙ บาท สำหรับองค์ใหญ่ แต่ตอนนั้นยังไม่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จัก-สนใจเท่าที่ควร เรียกว่า “แจกฟรียังโกรธ” เพิ่งมาบูมเมื่อประมาณ ๒-๓ ปี มานี้เอง จนทำให้ขณะนี้ ทราบว่ารุ่นแรกมีราคาพุ่งขึ้นถึงหลักแสนปลายๆ หรืออาจถึงหลักล้านแล้ว (และรุ่นที่สร้างต่อๆ มา บางรุ่นก็มีราคาสูงขึ้นมากกว่าราคาที่ออกให้เช่าตอนแรกหลายเท่าตัว จนทำให้คนบางกลุ่มไปเช่าเก็บตุนไว้ “ปล่อย” เพื่อเก็งกำไรในอนาคต) ส่งผลให้ตลาดพระเครื่องแตกตื่นอย่างไม่เคยมีมาก่อน และมีการจัดสร้างอย่างแพร่หลายทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ จนกลายเป็นธุรกิจ “เทวามาร์เก็ตติ้ง” หรือ “เทวพาณิชย์” ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและทำเงินอย่างมหาศาล มีเงินสะพัดเป็นหมื่น ๆ ล้านบาท (จนกรมสรรพากรจ้องเก็บภาษี) แผงพระเครื่อง(เก่า) แทบทุกแผงก็หันมาวางจตุคามรามเทพเสริมเข้าไปด้วย (หรือบางแห่งก็เก็บพระเก่าไว้ก่อน เปิดให้เช่าบูชาจตุคามรามเทพแทน) และมีแผงจตุคามรามเทพใหม่ๆ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้งในห้างสรรพสินค้า (เช่น ห้างดิโอลด์สยาม พาหุรัด, ห้างพาต้าปิ่นเกล้า ฯลฯ), ห้างทอง (ร้านทอง), แผงพระตามถนนหนทางหรือริมฟุตบาท ทั้งในกรุงเทพมหานคร (เช่น ท่าพระจันทร์) และต่างจังหวัด รวมทั้งในเว็บไซต์ต่าง ๆ (เช่น www.jatukarm.com, www.ramthep.com, www.jatukarm-ramatep.com, www.jatukamrammathep.com, www.g-pra.com เป็นต้น) ก็มีการ “เช่าหา-ซื้อขายแลกเปลี่ยน” หรือ “ประมูล” กันอย่างคึกคัก ทำให้ธุรกิจพระเครื่องที่กำลังซบเซาฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว (แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี “ของปลอม” “ของเก๊” หรือ “ของเสริม” ออกมาระบาดวุ่นตลาดเช่นกัน) ส่งผลให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเติบโตไปด้วยตามมาอย่างเป็นวงจร (เป็นเงินหมุนเวียนในระบบที่เรียกว่า “จตุคามโนมิกส์”) เช่น ธุรกิจการปัดทอง เพ้นต์สีองค์จตุคามรามเทพ ซึ่งบางคนยอมรับว่ามีรายได้นับหมื่นถึงแสนบาทต่อเดือน กิจการตลับพระกรอบพระ ร้านเลี่ยมพระ ร้านทอง โรงรับจำนำ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือพระ หนังสือพิมพ์ (เพราะต้องมีการโฆษณา) ธุรกิจการท่องเที่ยว (อย่างการจัดทัวร์ “ตามรอยขุนพันธรักษ์ราชเดช” ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) โรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจบันเทิง สายการบิน (โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช) เสื้อ หมวก พ็อคเก็ตบุ๊ก (อย่างพ็อคเก็ตบุ๊กเกี่ยวกับขุนพันธรักษ์ราชเดชและจตุคามรามเทพกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีของร้านหนังสือทั่วไป) โปสเตอร์ คัตเอาต์ ฯลฯ รวมทั้งธุรกิจอื่น ๆ เช่นร้านขายมอเตอร์ไซค์บางร้านก็งัดกลยุทธ์แหวกแนวด้วยโปรโมชั่นแจกวัตถุมงคลจตุคามรามเทพฟรีให้แก่ลูกค้าที่มาซื้อรถมอเตอร์ไซค์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีคนแห่ไปซื้อรถกันจำนวนมาก ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นภาพสะท้อน “จตุคามฯ ฟีเวอร์” ได้ดีที่สุด และปรากฏการณ์ดังกล่าว (ปรากฏการณ์ “จตุคามฯ ฟีเวอร์”) มีจุดเริ่มต้นมาจาก “ความศรัทธา” หรือ “ความเชื่อ” เป็นสำคัญ เป็นความเชื่อที่เดิมไม่มีต้นทุน (หรือมีน้อย) แต่กลับมี “มูลค่าเพิ่ม” สูงมากทางเศรษฐกิจ เพราะจากวัตถุมงคลที่มีต้นทุนต่อหน่วยไม่กี่สิบบาทแต่สามารถเพิ่มมูลค่าเป็นหลักพันจนถึงหลักล้านบาทได้เพราะ “ความเชื่อ” เป็นความเชื่อที่ “มีราคา” นั่นเอง

และมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า การสร้างจตุคามรามเทพแต่ละรุ่นนั้น ส่วนใหญ่มักตั้งชื่อไปในทางที่เป็นมงคล ช่วยดลบันดาลให้มีโชคมีลาภ มีเงินทองร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เช่น รุ่นโคตรเศรษฐี โคตรรวย โคตรมหารวย รวยทั้งโคตร รวยรวยรวย สมหวังร่ำรวย อภิมหาเฮง คลังเศรษฐี ดวงเศรษฐี เศรษฐีทวีทรัพย์ เจ้าสัว เจริญโภคทรัพย์ ทรัพย์หมื่นล้าน เงินไหลกองทองไหลมา รวยนิรันดร์ มั่งมีเงินทอง ฯลฯ

การนับถือจตุคามรามเทพ รวมทั้งวัตถุมงคลอื่น ๆ เป็นเรื่องของศรัทธา ที่สำคัญต้องมีขอบเขต ไม่ทำให้ตนเดือดร้อน เช่น เสียเงินค่าเช่าแพง ๆ (รวมทั้งที่ถูกโก่งราคาเช่าแพงลิบลิ่ว) ทำให้ตนและครอบครัวต้องเดือดร้อน โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน หรือช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ต้องระมัดระวัง) ให้นึกถึงความจำเป็นด้วย ไม่คลั่งไคล้เกินไปจนทำให้สิ้นเปลืองเงินทองในการเช่าบูชาเป็นจำนวนมากๆ หรือต้องเอาชีวิตไปแลก (เพราะถูกเหยียบตายอย่างที่ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์) ที่สำคัญที่สุด ก็คือต้องมีปัญญากำกับด้วย เพราะหากมีแต่ศรัทธา ไม่มีปัญญากำกับแล้วก็มีแต่งมงายเท่านั้นเอง บางกลุ่มนับถือตามคนอื่นเขา แขวนคอเพียงเพื่ออวดคนอื่น แขวนทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นใคร มีประวัติเป็นมาอย่างไร เห็นคนอื่นบูชาก็บูชาไปตามเขา เรียกว่าเป็น “แฟชั่น” แบบนี้ก็มีไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่นับถือจตุคามรามเทพ และวัตถุมงคลอื่น ๆ เพื่อหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น (นอกเหนือจากเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ) ช่วยดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือ หวังพลังศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น เช่น ให้มีโชคลาภร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ให้มีแต่คนรักคนชอบเป็นเมตตามหานิยม (เข้าทำนอง “ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงหลง”) มีความคงกระพันชาตรียิงไม่ออกฟันแทงไม่เข้า (คล้าย ๆ ต้องการเป็นอมตะ) แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเหตุเภทภัยทั้งปวง ให้มีความสำเร็จเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานการศึกษา ฯลฯ

จริงอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง และ “ปาฏิหาริย์” หรืออำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติที่ปรากฏออกมาจากสิ่งเหล่านั้นก็ (อาจ) มีอยู่จริง ด้วยอาศัยการที่ผู้บูชาประสบด้วยตนเองบ้าง (ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากสิ่งเหล่านั้นดลบันดาลให้) หรือจากการฟังเสียงร่ำลือจากคนอื่นบ้าง เพราะหากไม่มีอยู่จริง ทหารไทยในอดีตก็คงไม่ได้ชื่อว่าเป็น “ทหารผี” เพราะถูกยิงไม่เป็นไร เพียงแค่กระเด็นล้มลงไปตามแรงกระสุน แล้วก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้ เพราะมี “ของขลัง” อยู่กับตัว

เทพบันดาล - ธรรมบันดาล
ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นศาสนาแห่งการกระทำ ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอน ถ้ามัวแต่หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ ที่เรียกว่ารอ “เทพบันดาล” แต่ตัวเราไม่ทำเหตุที่จะให้ได้ผลอย่างนั้นเลย ก็คงไม่สำเร็จ ดังนั้น เพื่อให้บทความนี้ไม่ยืดเยื้อเกินไป ขอเสนอว่า ถ้าอยากจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ในสิ่งที่ปรารถนา เราก็ต้องลงมือกระทำด้วย เป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น โดยใช้หลักธรรมช่วย ที่เรียกว่า “ธรรมบันดาล” กล่าวคือ

๑. ต้องการมีโชคลาภร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ความจริง คนที่เกิดมาร่ำรวย ท่านว่าเป็นเพราะอำนาจของบุญกุศลที่เคยทำมาแต่ชาติปางก่อน เรียกว่ามีทุนเดิมที่เคยสะสมไว้อยู่ก่อนแล้ว เหมือนมีเงินฝากไว้ในธนาคารแล้ว จึงส่งผลให้ชาตินี้มีโชคลาภมีทรัพย์สินเงินทอง (นี้ไม่พูดถึงที่ร่ำรวยเพราะทุจริตคอร์รัปชั่น) และในชาตินี้ ก็ต้องอาศัยหลักทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ที่เรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” มีอักษรย่อว่า อุ อา กะ สะ
๑.๑ อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา ได้แก่ ขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาทรัพย์ ไม่เกียจคร้าน หนักเอาเบาสู้
๑.๒ อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา ได้แก่ รู้จักรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ให้มีอันตรายสูญหายไปกับอบายมุขเป็นต้น
๑.๓ กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา ได้แก่ คบเพื่อนที่ดี ไม่คบเพื่อนที่ชักชวนไปในทางฉิบหาย เช่น ชวนดื่มน้ำเมา ชวนเล่นการพนันเป็นต้น
๑.๔ สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา ได้แก่ เลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย ไม่ให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไป ให้รู้จักออมเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ธรรมข้อนี้ นับว่ามีความสำคัญในการสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะแม้จะแขวนจตุคามรามเทพ รุ่นโคตรเศรษฐี หรืออภิมหาโคตรเศรษฐี เป็นต้น และแขวนอยู่อย่างนั้นเป็นเดือน ๆ เป็นปี ๆ แต่ถ้าเกียจคร้านทำงาน เอาแต่งอมืองอเท้า วัน ๆ ไม่รู้จักทำมาหากิน หรือไม่รู้จักรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ไว้ให้ดี ฯลฯ ก็ฟันธงได้เลยว่าไม่มีวันร่ำรวยเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้เลย ยิ่งไปกว่านั้น บางคนแขวนจตุคามรามเทพแล้ว ก็ไปหวังโชคลาภจากการเล่นหวยบ้าง การพนันบ้าง (แขวนจตุคามฯ เข้าบ่อนการพนันก็มี) แบบนี้ก็คงเรียกว่า ไปสู่อบายมุข คือทางแห่งความเสื่อม(ทรัพย์) แน่นอน อย่าว่าแต่ไม่ร่ำรวยขึ้นมาได้เลย แต่อาจถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวเลยทีเดียว ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักแล้ว

๒. ต้องการให้มีแต่คนรักคนชอบ เป็นเมตตามหานิยม (เข้าทำนอง “ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงหลง”) ต้องยึดหลักสังคหวัตถุ หมายถึงหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล เป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ ๔ ประการ
๒.๑ ทาน ได้แก่ รู้จักเสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปันของ ๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว
๒.๒ ปิยวาจา ได้แก่ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์ถูกกาลเทศะ ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดส่อเสียด
๒.๓ อัตถจริยา ได้แก่ ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๒.๔ สมานัตตตา ได้แก่ มีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวสม่ำเสมอ
ธรรมข้อนี้ ช่วยให้ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ ช่วยให้คนนิยมชมชอบรักใคร่ ตรงกันข้าม ถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัว หรือพูดจาหยาบคายเป็นต้น ฯลฯ แม้จะแขวนพระขุนแผนเต็มคอ ใช้สีผึ้งมหาเมตตา หรือลงสาริกาลิ้นทอง เป็นต้น ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ (มีแต่คนเกลียดแน่) หรือคนที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าอยากให้คนมาอุดหนุนสินค้าของตนให้มาก ก็ต้องซื่อสัตย์จริงใจต่อลูกค้า (ยึดหลัก “สัจจะ - ซื่อสัตย์ จริงใจ ไม่หลอกลวง) ไม่เอาของบูดของเสีย หรือของไม่มีคุณภาพ (แต่บอกว่าดีเยี่ยม) มาขาย หรือไม่ก็ต้องทำอาหารให้มีรสชาติเอร็ดอร่อย ไม่มุ่งแต่ปริมาณจนลืมคุณภาพ รวมทั้งพูดจาไพเราะอ่อนหวานต่อลูกค้า รู้จักเอาใจลูกค้าเข้าไว้เป็นต้น มิเช่นนั้นแล้ว แม้จะบูชานางกวักทุกเช้าค่ำ ก็คงเรียกลูกค้าไม่ได้ หรือคนที่อยากให้เจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ผู้หลักผู้ใหญ่ รักใคร่เอ็นดู ให้การสนับสนุนส่งเสริมอุ้มชู ก็ต้องมี “คารวธรรม” และ “นิวาตธรรม” คือมีความเคารพนบนอบ อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่กระด้างกระเดื่อง ว่านอนสอนง่ายไม่ดื้อดึง ส่วนเจ้านาย ฯลฯ อยากให้ลูกน้องมีความเคารพยำเกรง เต็มใจที่จะทำงานให้เรา ก็ต้องมีพรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ยึดหลักครองคนให้ดี หรือคนที่เป็นนักแสดง นักพูด นักเทศน์ นักบรรยาย อยากให้ผู้ชมผู้ฟังนิยมชมชอบ ก็ต้องมีความตั้งใจจริง มีการพัฒนาความสามารถของตนไปเรื่อย ๆ มีวินัย มีความรับผิดชอบในการแสดง พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ไม่พูดส่อเสียด กระทบกระทั่งผู้ฟัง หรือไม่นินทา หรือใส่ร้ายป้ายสีโจมตีใคร (หลัก “อนูปวาโท”) เป็นต้น ทำได้ดังนี้ ก็ย่อมจะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาได้ไม่ยาก หรือคนที่ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เช่น บุตรที่กตัญญูต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ไม่ละทิ้ง “เทพ” หรือ “พระ” ประจำบ้านของตน เฝ้าเลี้ยงดูท่าน ไม่ทอดทิ้ง เชื่อฟังคำสอนท่าน ไม่ทำให้ท่านต้องเจ็บช้ำน้ำใจเพราะการกระทำนอกลู่นอกทางของตนเอง ก็ย่อมมีแต่คนรักใคร่เอ็นดู สรรเสริญยกย่องว่าเป็นลูกกตัญญู แต่ถ้าบุตรมีพฤติกรรมตรงข้ามดังกล่าว แม้จะแขวนหรือบูชาเทพใดๆ ก็คงไม่มีใครสรรเสริญว่าเป็นลูกกตัญญู คงมีแต่คนสาปแช่งดูหมิ่นเหยียดหยาม

๓. ต้องการเป็นคงกระพันชาตรี ยิงไม่ออกฟันแทงไม่เข้า (คล้าย ๆ ต้องการเป็นอมตะ) แคล้วคลาดปลอดภัย คนจะมีอายุยืนหรืออายุสั้น ความจริงมีกล่าวไว้ในจูฬกัมมวิภังคสูตร กล่าวคือคนที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ในชาติปางก่อน) เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้จึงเป็นคนอายุสั้น เช่น ตายในระหว่างอายุยังน้อยบ้าง หรือถูกเขาฆ่าตายบ้าง ส่วนคนที่ไม่ฆ่าสัตว์ แต่มีเมตตาต่อสัตว์ เกิดมาในชาตินี้ก็เป็นคนอายุยืน
ความจริงแล้ว มนุษย์เราไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน ๆ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกันและกัน ยึดหลัก “อหิงสา” หรือ “เมตตา” ต่อสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ไม่เข่นฆ่าเบียดเบียนทำร้ายกัน หรือยึดมั่นในศีล ๕ (เช่นเว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการประพฤติผิดในลูกเมียของผู้อื่นเป็นต้น) ก็เชื่อว่าจะช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาว ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีใครมาเข่นฆ่าทั้งสิ้น ข้อนี้นับว่าสำคัญไม่น้อย เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมกำกับอยู่ในใจแล้ว ก็มีแต่จะเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวัน หรือถ้าประพฤติการชั่ว พระก็คงไม่คุ้มครองแน่ สักวันต้องพบจุดจบ และเมื่อนั้น แม้จะแขวนวัตถุมงคลที่มีพุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรีเต็มคอก็ต้องตายสิ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
อนึ่ง คนเราหากถึงคราวตาย ก็คงหนีไม่พ้น เข้าทำนองว่า “หากไม่ถึงคราวตายวายชีวาตม์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ หากถึงคราวตายวายชีวัน ไม้จิ้มฟันแทงเหงือก ยังเสือ…กตาย" เพราะฉะนั้น จะไปกลัวอะไรกับความตาย เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครเลยจะอยู่เป็นอมตะ และถ้าเคยฆ่าคนอื่นไว้ (ไม่ว่าในอดีต – อดีตชาติหรือปัจจุบัน) ก็ต้องยอมรับกรรม เป็นการชดใช้กันไป

๔. ต้องการเดินทางไปไหนมาไหนแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่มีอันตรายใด ๆ (ดูข้อ ๓. ประกอบด้วย) ในการเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ว่าทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ มักเกิดอุบัติ และมีข่าวปรากฏตามสื่ออยู่บ่อย ๆ อย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็มีคนเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ธรรมที่ช่วยส่งเสริมหรือป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ก็คือหลัก “อัปปมาทธรรม” ได้แก่การไม่ประมาท เช่น ตรวจสอบยานพาหนะนั้นๆ ให้ดีว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ดื่มหรือเสพของมึนเมาในขณะขับขี่ (ยึดศีล ๕ ข้อสุราเมรัย) ขับขี่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมหมวกหรือรัดเข็มขัดให้เรียบร้อย ไม่ขับเร็วเกินไป ฯลฯ มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ถ้าทุกคนทำได้เช่นนี้ก็เชื่อว่าปลอดภัยไม่มีอุบัติเหตุแน่นอน ตรงกันข้าม คือหากประมาท โอกาสถึงป่าช้าก็มีมาก แม้จะแขวนหรือบรรทุกพระเครื่องไว้ในรถเป็นหมื่น ๆ องค์ ท่านก็คงช่วยไม่ได้

๕. ต้องการประสบความสำเร็จในการศึกษา เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ธรรมที่ช่วยส่งเสริมได้ดีหมวดหนึ่ง ก็คือหลักอิทธิบาท ๔
๕.๑ ฉันทะ ได้แก่ พอใจในการศึกษาเล่าเรียน ในงานนั้น
๕.๒ วิริยะ ได้แก่ ขยันศึกษาเล่าเรียน ขยันทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หนักเอาเบาสู้
๕.๓ จิตตะ ได้แก่ เอาใจใส่ฝักใฝ่ในการศึกษาเล่าเรียนในการทำงาน ไม่ทอดทิ้งเสียกลางคัน
๕.๔ วิมังสา ได้แก่ หมั่นพิจารณาตรวจสอบข้อบกพร่องของตนเอง ในการเรียน การทำงาน เพื่อปรับปรุงพัฒนาแก้ไขให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
นอกจากนี้ ก็มีหลักธรรมอื่นๆ อีก เช่น หลักยโสวัฑฒนธรรม (ธรรมที่ช่วยให้เจริญยศ) ๗ ประการ ได้แก่ อุฏฐานะ (ขยันหมั่นเพียรไม่ทอดธุระ) สติ (มีสติระลึกได้ก่อนทำพูดสิ่งใดๆ) สุจิกัมมะ (ทำงานที่สะอาดสุจริต) นิสัมมการี (ใคร่ครวญไตร่ตรองให้ดีก่อนทำเสมอ) สัญญตะ (มีความระมัดระวังตลอดเวลา) ธัมมชีวี (เลี้ยงชีพในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรม) อัปปมัตตะ (ไม่ประมาทเลินเล่อมัวเพลินในสิ่งไร้ประโยชน์) ดังพุทธภาษิตที่ว่า อุฏฺ&#63232านวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน สญฺ&#63247ตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ แปลว่ายศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญแล้วทำ ระวังดีแล้ว เป็นอยู่โดยธรรม และไม่ประมาท เป็นต้น
ธรรมดังกล่าวช่วยให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำงาน อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องมัวไปหวังผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ คือสามารถสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นด้วยตัวของเราเอง ตรงกันข้าม หากไม่ยึดหลักธรรมนี้แล้ว แม้จะแขวนจตุคามรามเทพ หรือพระพิฆเนศเป็นสิบ ๆ องค์ ก็คงต้องล้มเหลวแน่นอน

ความปรารถนาของคนที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คงมี ๕ เรื่องหลัก ๆ ดังกล่าว (หรืออาจมีอีก แต่ขอเสนอเพียง ๕ ประการ) ซึ่งก็มีสมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง เป็นราย ๆ หรือเป็นกรณี ๆ ไป (กรณีที่มัวแต่รอความกรุณาของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะดลบันดาลให้) จึงขอสรุปว่า จะนับถือเทพเจ้า หรือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในโลกนี้ ก็นับถือไปเถอะครับตามความเชื่อความนิยมชมชอบของแต่ละคน ที่สำคัญต้องมีปัญญากำกับด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการงมงาย อาจถูกหลอกหรือชักจูงได้ง่าย และที่สำคัญที่สุด ก็คือเมื่อต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา ที่เรียกว่าอาศัย “เทพบันดาล” แล้ว อย่าลืมลงมือกระทำเองด้วย เพราะที่พึ่งภายนอกหรือมัวแต่รอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดาลให้ก็คงพึ่งได้ไม่ตลอดไป แต่การพึ่งตนเองคือยึดหลักธรรมหรือหลักการ ที่เรียกว่า “ธรรมบันดาล” ที่ได้นำเสนอไปดังกล่าวด้วย จึงจะได้ผลแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เช่นนั้นแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ของวัตถุมงคลหรือพระเครื่องใด ๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่เราแขวนหรือบูชาอยู่นั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับเศษดิน หิน ทราย ไม้ โลหะ ฯลฯ เท่านั้นเอง

บทสรุปส่งท้าย

เทพหรือเทวดา มีกล่าวไว้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายแห่ง (อย่างเทพในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น) ซึ่งมีทั้งเทพที่ดีและไม่ดี เฉพาะองค์จตุคามรามเทพก็เป็นเทพที่ดีองค์หนึ่ง ซึ่งพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระสงฆ์ผู้เป็นนักปราชญ์แห่งพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงว่า “...เทพองค์นั้น (จตุคามรามเทพ) เป็นชาวพุทธที่ดี มีศรัทธามาทำหน้าที่ปกปักรักษาพระพุทธศาสนา มาบำเพ็ญความดี นับเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชาวพุทธควรจะบำเพ็ญความดีอย่างเทพองค์นี้ ไม่ใช่ว่าเทพจตุคามฯ ทำความดี แต่คนคอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของเทพ ชาวพุทธควรเอาเทพที่ดีมาช่วยประกันใจตัวให้มั่นคงไม่หวาดหวั่นพรั่นกลัว และปลุกใจตัวให้มีกำลังใจเข้มแข็งที่จะทำการดีงามให้สำเร็จ ร่วมขบวนกับเทพนั้นในการบำเพ็ญความดีตลอดจนบารมีต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้..." จากข้อความนี้ แสดงว่าท่านไม่ได้ปฏิเสธหรือตำหนิเทพจตุคามรามเทพ แต่ตำหนิ "คน" ที่เรียกตนเองว่าชาวพุทธ แต่คอยฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์จากการทำความดีของเทพต่างหาก แต่/และท่านก็ได้แนะนำ “ท่าที” ต่อจตุคามรามเทพไว้อย่างมีหลักเหตุผล อนึ่ง การบูชาพระ (วัตถุมงคล) ก็เพื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ คอยเตือนสติเราให้ละชั่ว ทำแต่ความดี นอกจากนั้น การนับถือเทพ (ที่ดี) ในทางพระพุทธศาสนา ก็จัดเป็นอนุสติอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่าง คือ เทวตานุสติ หมายถึงระลึกถึงเทวดา คือ น้อมจิตระลึกถึงเทวดาทั้งหลายที่ตนเคยรู้ และพิจารณาเห็นคุณธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดานั้นๆ ตามที่มีอยู่ในตน, พิจารณาถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นเทวดาแล้วระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แล้วอันจะส่งผลให้ได้เกิดเป็นเทวดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องยึดหลักหิริ (ความละอายแก่ใจที่จะทำชั่ว) และโอตตัปปะ (ความสะดุ้งกลัวต่อผลของความชั่ว) อันถือเป็น“เทวธรรม” (ธรรมของเทวดา) หรือธรรมที่จะช่วยหรือทำให้คนเป็นเทวดานั่นเอง
จึงสรุปว่า หากจะนับถือองค์จตุคามรามเทพ (หรือ เทพในศาสนาอื่น เช่น พระพรหม พระนารายณ์ พระพิฆเนศ ฯลฯ) และวัตถุมงคลอื่นๆ ก็ย่อมทำได้ (เพราะคนไทยทำมานานแล้ว) แต่จะต้องไม่ละทิ้ง “หลักการ” หรือ “หลักความจริง” (สัจธรรม) ทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ที่พึ่งหลัก”คือ พระรัตนตรัย (ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่เข้าใจหรือสำคัญว่าเป็นที่พึ่ง ก็ให้ถือเป็นที่พึ่งรองๆ ลงไป แต่ต้องถือพระรัตนตรัยเป็นหลัก) อันเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันมั่นคง จะละเสียไม่ได้ ผู้ที่ยึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ย่อมพ้นจากทุกข์ได้ และสุดท้าย ก็คือวางท่าทีให้ถูกต้องต่อองค์จตุคามรามเทพ ฯลฯ อย่างมีปัญญากำกับ ไม่หลงงมงายอย่างไร้เหตุผล ให้สมกับที่เป็น “ชาวพุทธ” ที่แท้จริง
---------------------------------

โดยคุณ ขาจรประจำ (622)(1)   [พ. 01 ส.ค. 2550 - 21:10 น.]



โดยคุณ ขาจรประจำ (622)(1)   [พ. 01 ส.ค. 2550 - 21:12 น.] #129349 (1/2)


(D)
.

โดยคุณ คุณอ้น (20)  [พ. 01 ส.ค. 2550 - 23:04 น.] #129401 (2/2)
คุณขาจรประจำครับ

เช็คเมล์ด้วยครับ

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1