ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : ประวัติความเป็นมาของคาถา "พระเจ้าห้ามอาวุธ" จากต้นตำรับ

(D)
ความเป็นมาของคาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ

สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสัชเชตุง (บาลีเดิมเป็น วิสสัชเชตุง คือ ส เสือ 2 ตัว) นาทาสิ เรียกว่าคาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ คาถานี้โบราณเชื่อกันว่าบริกรรมภาวนาไว้ให้มั่น จะทำให้ปลอดภัยจากอาวุธและภยันตรายทั้งปวง

ผมได้ศึกษา/ค้นดูพระไตรปิฎกและอรรถกถา พบว่าคาถานี้ (เดิมไม่ได้อยู่ในคาถา หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือไม่ได้เป็นคาถา แต่เป็นข้อความร้อยแก้วธรรมดาๆ) มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท (พระไตรปิฎก เล่ม 25) เรื่อง นายพรานกุกกุฏมิตร (ฉบับแปลเป็นไทย หน้า 34-36) ดังจะนำมาเต็มๆ เรื่องให้อ่านกัน แล้วจะสรุปตอนจบอีกทีครับ เป็นดังนี้ (สำนวนแปลเดิมๆ จากหนังสือนะครับ อ่านแล้วอาจเข้าใจในภาษาวัดยากไปนิด)

1. ธิดาเศรษฐีรักพรานกุกกุฎมิตร

ได้ยินมาว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ เจริญวัยแล้วเพื่อประโยชน์แก่การรักษา. มารดาบิดาจึงมอบหญิงคนใช้ให้คนหนึ่งให้อยู่ในห้องบนปราสาท ๗ ชั้น ในเวลาเย็นวันหนึ่ง แลไปในระหว่างถนน ทางหน้าต่าง เห็นนายพรานคนหนึ่งชื่อกุกกุฎมิตร ผู้ถือบ่วง ๕๐๐ และหลาว ๕๐๐ ฆ่าเนื้อทั้งหลายเลี้ยงชีพ ฆ่าเนื้อ ๕๐๐ ตัวแล้วบรรทุกเกวียนใหญ่ให้เต็มไปด้วยเนื้อสัตว์เหล่านั้น นั่งบนแอกเกวียนเข้าไปสู่พระนครเพื่อต้องการจะขายเนื้อ เป็นผู้มีจิตปฏิพัทธ์ในนายพรานนั้น ให้บรรณการในมือหญิงคนใช้ ส่งไปว่า “ เจ้าจงไป, จงให้บรรณการแก่บุรุษนั้น รู้เวลาไป (ของเขา) แล้วจงมา.” หญิงคนใช้ไปแล้ว ให้บรรณการแก่นายพรานนั้นแล้ว ถามว่า” ท่านจักไปเมื่อไร ? “ นายพรานตอบว่า “ วันนี้เราขายเนื้อแล้ว จักออกไปโดยประตูชื่อโน้นแต่เช้าเทียว.” หญิงคนใช้ฟังคำที่นายพรานนั้นบอกแล้ว กลับมาบอกแก่นาง.

2. ธิดาเศรษฐีลอบหนีไปกับนายพราน

ธิดาเศรษฐีรวบรวมผ้าและอาภรณ์อันควรแก่ความที่เป็นของตนควรถือเอา นุ่งผ้าเก่าถือหม้อออกไปแต่เช้าตรู่เหมือนไปสู่ท่าน้ำกับพวกนางทาสี ถึงที่นั้นแล้วได้ยืนคอยการมาของนายพรานอยู่. แม้นายพรานก็ขับเกวียนออกไปแต่เช้าตรู่. ฝ่ายนางก็เดินตามหลังนายพรานนั้นไป. เขาเห็นนางจึงพูดว่า “ ข้าพเจ้าไม่รู้จักเจ้าว่า ‘ เป็นธิดาของผู้ชื่อโน้น,’ แน่แม่ เจ้าอย่าตามฉันไปเลย.” นางตอบว่า “ ท่านไม่ได้เรียกฉันมา, ฉันมาตามธรรมดาของตน, ท่านจงนิ่ง ขับเกวียนของตนไปเถิด.” เขาห้ามนางแล้ว ๆ เล่า ๆ ทีเดียว. ครั้นนางพูดกับเขาว่า “ อันการห้ามสิริอันมาสู่สำนักของตนย่อมไม่ควร “ นายพรานทราบการมาของนางเพื่อตนโดยไม่สงสัยแล้ว ได้อุ้มนางขึ้นเกวียนไป. มารดาบิดาของนางให้คนหาข้างโน้นข้างนี้ก็ไม่พบ สำคัญว่า “ นางจักตายเสียแล้ว “ จึงทำภัตเพื่อผู้ตาย. แม้นางอาศัยการอยู่ร่วมกับนายพรานนั้น คลอดบุตร ๗ คนโดยลำดับ ผูกบุตรเล่านั้นผู้เจริญวัยเติบโตแล้ว ด้วยเครื่องผูกคือเรือน.

3. กุกกุฏมิตรอาฆาตในพระพุทธเจ้า

ภายหลังวันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่งทรงเห็นนายพรานกุกกุฏมิตรกับบุตรและสะใภ้ เข้าไปในข่ายคือพระญาณของพระองค์ ทรงใคร่ครวญว่า “ นั่นเหตุอะไรหนอแล ? “ ทรงเห็น อุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของชนเหล่านั้นแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรได้เสด็จไปที่บ่วงดักของนายพรานนั้นแต่เช้าตรู่. วันนั้นแม้เนื้อสักตัวหนึ่งก็มิได้ติดบ่วง.
พระศาสดาทรงแสดงรอยพระบาท ที่ใกล้บ่วงของเขาแล้วประทับนั่งในใต้ร่มพุ่มไม้พุ่มหนึ่งข้างหน้า. นายพรานกุกกุฎมิตรถือธนูไปสู่ที่ดักบ่วงแต่เช้าตรู่ ตรวจดูบ่วงจำเดิมแต่ต้น ไม่พบเนื้อแม้ตัวเดียวซึ่งติดบ่วง ได้เห็นรอยพระบาทของพระศาสดาแล้ว. ทีนั้นเขาได้ดำริฉะนี้ว่า “ ใครเที่ยวปล่อยเนื้อตัวติด (บ่วง) ของเรา.” เขาผูกอาฆาตในพระศาสดา เมื่อเดินไปก็พบพระศาสดาประทับนั่งที่โคนพุ่มไม้ คิดว่า “ สมณะองค์นี้ปล่อยเนื้อของเรา, เราจักฆ่าสมณะนั้นเสีย.” ดังนี้แล้ว ได้โก่งธนู.


พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. เขาไม่อาจทั้งเพื่อปล่อยลูกศรไป ทั้งลดลง มีสีข้างทั้ง ๒ ปานดังจะแตก มีน้ำลายไหลออกจากปาก เป็นผู้อ่อนเพลีย ได้ยืน (ซื่อ) อยู่แล้ว.

ครั้งนั้น พวกบุตรของเขาไปเรือนพูดกันว่า “ บิดาของเราล่าช้าอยู่, จักมีเหตุอะไรหนอ ? “ อันมารดาส่งไปว่า “ พ่อทั้งหลาย พวกเจ้าจงไปสู่สำนักของบิดา.” ต่างก็ถือธนูไปเห็นบิดายืนอยู่เช่นนั้น คิดว่า” ผู้นี้จักเป็นปัจจามิตรของบิดาพวกเรา,” ทั้ง ๗ คนโก่งธนูแล้วได้ยืนอยู่ เหมือนกับบิดาของพวกเขายืนแล้ว เพราะอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.

7. กุกกุฎมิตรเลิกอาฆาตในพระพุทธเจ้า

ลำดับนั้น มารดาของพวกเขาคิดว่า ทำไมหนอแล ? บิดา(และ) บุตรจึงล่าช้าอยู่ “ ไปกับลูกสะใภ้ ๗ คน เห็นชนเหล่านั้นยืนอยู่อย่างนั้น คิดว่า “ ชนเหล่านี้ยืนโก่งธนูต่อใครหนอแล ? “ แลไปก็เห็นพระศาสดา จึงประคองแขนทั้ง ๒ ร้องลั่นขึ้นว่า “ พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ, พวกท่านอย่ายังบิดาของเราให้พินาศ.”

นายพรานกุกกุฎมิตรได้ยินเสียงนั้นแล้ว คิดว่า “ เราฉิบหายแล้วหนอ, นัยว่า ผู้นั้นเป็นพ่อตาของเรา, ตายจริง เราทำกรรมหนัก.” แม้พวกบุตรของเขาก็คิดว่า “ นัยว่า ผู้นั้นเป็นตาของเรา, ตายจริงเราทำกรรมหนัก.” นายพรานกุกกุฎมิตรเข้าไปตั้งเมตตาจิตไว้ว่า” คนนี้เป็นพ่อตาของเรา.” แม้พวกบุตรของเขาก็เข้าไปตั้งเมตตาจิตว่า “ คนนี้เป็นตาของพวกเรา.” ขณะนั้น ธิดาเศรษฐีผู้มารดาของพวกเขาพูดว่า “ พวกเจ้าจงทิ้งธนูเสียโดยเร็วแล้วให้บิดาฉันอดโทษ.”

5. เขาทั้งหมดสำเร็จโสดาปัตติผล

พระศาสดา ทรงทราบจิตของเขาเหล่านั้นอ่อนแล้วจึงให้ลดธนูลงได้. ชนเหล่านั้นทั้งหมด ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ให้พระองค์อดโทษว่า “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงอดโทษแก่ข้าพระองค์ “ ดังนี้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสอนุปุพพีกถาแก่พวกเขา. ในเวลาจบเทศนา นายพรานกุกกุฎมิตรพร้อมทั้งบุตรสะใภ้ มีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว. พระศาสดาเสด็จเที่ยวไปบิณฑบาต ได้เสด็จไปสู่วิหารภายหลังภัต.

ลำดับนั้น พระอานนทเถระทูลถามพระองค์ว่า” วันนี้ พระองค์เสด็จไปไหน ? พระเจ้าข้า.” พระศาสดาตรัสว่า ไปสำนักของกุกกุฎมิตร อานนท์. พระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นายพรานกุกกุฎมิตร พระองค์ทำให้เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้วหรือ ? พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า เออ อานนท์ นายพรานกุกกุฎมิตรนั้นมีตนเป็นที่ ๑๕ ตั้งอยู่ในศรัทธาอันไม่คลอนแคลน เป็นผู้หมดสงสัยในรัตนะ ๓เป็นผู้ไม่ทำกรรมคือปาณาติบาตแล้ว.
พวกภิกษุกราบทูลว่า “ แม้ภริยาของเขามีมิใช่หรือ ? พระเจ้าข้า “พระศาสดา ตรัสว่า “ อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย, นางเป็นกุมาริกาในเรือนของผู้มีตระกูลเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว.”

7. พระโสดาบันไม่ทำบาป

พวกภิกษุสนทนากันว่า ได้ยินว่า ภริยาของนายพรานกุกกุฎมิตร บรรลุโสดาปัตติผลในกาลที่ยังเป็นเด็กหญิงนั่นแล แล้วไปสู่เรือนของนายพรานนั้น ได้บุตร ๗ คน, นางอันสามีสั่งตลอดกาลเท่านี้ว่า ‘ หล่อนจงนำธนูมา นำลูกศรมา นำหอกมา นำหลาวมา นำข่ายมา, ‘ได้ให้สิ่งเหล่านั้นแล้ว, นายพรานนั้น ถือเครื่องประหารที่นางให้ไปทำปาณาติบาต แม้พระโสดาบันทั้งหลายยังทำปาณาติบาตอยู่หรือหนอ ?” พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ? “ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ ด้วยเรื่องชื่อนี้.” ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย พระโสดาบันย่อมไม่ทำปาณาติบาต, แต่นางได้ทำอย่างนั้น ด้วยคิดว่า’ เราจักทำตามคำสามี, ‘ จิตของนางไม่มีเลยว่า ‘ สามีนั้นจงถือเอาเครื่องประหารนี้ไปทำปาณาติบาต จริงอยู่ เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มียาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษ๑แก่ผู้ถือยาพิษได้ ฉันใดชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป แม้นำเครื่องประหารทั้งหลายมีธนูเป็นต้นออกให้เพราะไม่มีอกุศลเจตนา ฉันนั้นเหมือนกัน,” ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรง สืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า

“ ถ้าแผลไม่พึงมีในฝ่ามือไซร้, บุคคลพึงนำยา พิษไปด้วยฝ่ามือได้, เพราะยาพิษย่อมไม่ซึม เข้าไปสู่ฝ่ามือที่ไม่มีแผล ฉันใด, บาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำอยู่ ฉันนั้น.”

7. บุรพกรรมของกุกกุฎมิตรพร้อมด้วยบุตรและลูกสะใภ้
โดยสมัยอื่น พวกภิกษุสนทนากันว่า “ อะไรหนอแล เป็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของนายพรานกุกกุฎมิตร ทั้งบุตร และลูกสะใภ้ ? นายพรานกุกกุฎมิตรนี่ เกิดในตระกูลของนายพรานเนื้อเพราะเหตุอะไร ? “

พระศาสดาเสด็จมาแล้ว ตรัสถามว่า “ ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วนเรื่องอะไรหนอ ? “ เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า “ ด้วยเรื่องชื่อนี้.” ตรัสว่า “ ภิกษุทั้งหลาย ในอดีตกาลหมู่ชนจัดสร้างเจดีย์บรรจุพระธาตุของพระกัสสปทสพล กล่าวกันอย่างนี้ว่า “ อะไรหนอ จักเป็นดินเหนียว ?, อะไรหนอ จักเป็นน้ำเชื้อ แห่งเจดีย์นี้ ?

7.1 การสร้างเจดีย์ในสมัยก่อน
ทีนั้น พวกเขาได้มีปริวิตกนี้ว่า “ หรดาล๑และมโนสิลา๒จักเป็นดินเหนียว, น้ำมันงาจักเป็นน้ำเชื้อ.” พวกเขาตำหรดาลและมโนสิลาแล้ว ผสมกับน้ำมันงา ก่อด้วยอิฐ ปิดด้วยทองคำ แล้วเขียนลวดลายข้างใน. แต่ที่มุขภายนอกมีอิฐเป็นทองทั้งแท่งเทียว. อิฐแผ่นหนึ่ง ๆ ได้มีค่าแสนหนึ่ง. พวกเขา เมื่อเจดีย์สำเร็จแล้ว จนถึงกาลจะบรรจุพระธาตุ คิดกันว่า “ ในกาลบรรจุพระธาตุ ต้องการทรัพย์มาก, พวกเราจักทำใครหนอแล ให้เป็นหัวหน้า ? “

7.2 แย่งกันเป็นหัวหน้าในการบรรจุพระธาตุ
ขณะนั้น เศรษฐีบ้านนอกคนหนึ่ง กล่าวว่า “ ข้าพเจ้า จักเป็นหัวหน้า “ ได้ใส่เงินโกฏิ ๑ ในที่บรรจุพระธาตุ. ชาวแว่นแคว้นเห็นกิริยานั้น ติเตียนว่า “ เศรษฐีในกรุงนี้ ย่อมรวบรวมทรัพย์ไว้ถ่ายเดียว, ไม่อาจเป็นหัวหน้าในเจดีย์เห็นปานนี้ได้, ส่วนเศรษฐีบ้านนอกใส่ทรัพย์โกฏิ ๑ เป็นหัวหน้าทีเดียว.” เศรษฐีในกรุงนั้น ได้ยินถ้อยคำของชนเหล่านั้นแล้ว กล่าวว่า” เราจักให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้วเป็นหัวหน้า “ ได้ให้ทรัพย์ ๒ โกฏิแล้ว.
เศรษฐีบ้านนอก มีทรัพย์ ๙ โกฏิเท่านั้นในเรือน. เศรษฐีในกรุงมีทรัพย์ ๔๐ โกฏิ. เพราะฉะนั้น เศรษฐีบ้านนอก จึงคิดว่า “ ถ้าเราให้ทรัพย์ ๙ โกฏิไซร้, เศรษฐีนี้จักกล่าวว่า “ เราจักให้ ๑๐ โกฏิ,”เมื่อเป็นเช่นนั้น ความหมดทรัพย์ประมาณเท่านี้. และเราทั้งลูกและเมียจักเป็นทาสของเจดีย์ “ ดังนี้แล้ว พาบุตรทั้ง ๗ คน ลูกสะใภ้ ๗ คนและภริยา มอบแก่เจดีย์พร้อมกับตน.

7.3 เศรษฐีบ้านนอกได้เป็นหัวหน้า
ชาวแว่นแคว้นทำเศรษฐีบ้านนอกนั้นให้เป็นหัวหน้า ด้วยอ้างว่า “ ชื่อว่าทรัพย์ ใคร ๆ ก็อาจให้เกิดขึ้นได้, แต่เศรษฐีบ้านนอกนี้พร้อมทั้งบุตรและภริยา มอบตัว (เฉพาะเจดีย์), เศรษฐีนี้แหละจงเป็นหัวหน้า.” ชนทั้ง ๑๖ คนนั้น ได้เป็นทาสของเจดีย์ด้วยประการฉะนี้. แต่ชาวแว่นแคว้นได้ทำพวกเขาให้เป็นไท. แม้เมื่อเป็นเช่นนั้นพวกเขาก็ปฏิบัติเจดีย์นั่นแล ดำรงอยู่ตลอดอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก. เมื่อชนเหล่านั้น อยู่ในเทวโลกตลอดพุทธันดร ๑ ในพุทธุปบาทนี้ ภริยาจุติจากเทวโลกนั้น บังเกิดเป็น ธิดาเศรษฐีในกรุงราชคฤห์.

7.4 คติของผู้ไม่เห็นสัจจะไม่แน่นอน
นางยังเป็นเด็กหญิงเทียว บรรลุโสดาปัตติผลแล้ว. ก็ชื่อว่าปฏิสนธิของสัตว์ผู้ยังไม่เห็นสัจจะ เป็นคติธรรมหยาบ เพราะฉะนั้น สามีของนางจึงเวียนกลับไปเกิดในสกุลพรานเนื้อ. ความสิเน่หาในก่อนได้ครอบงำธิดาของเศรษฐี พร้อมกับการเห็นนายพรานกุกกุฎมิตรนั้นแล. จริงอยู่ แม้พระผู้มีพระภาค ก็ตรัสคำนี้ไว้ว่า

“ ความรักนั้น ย่อมเกิด เพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการอย่างนี้ คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ ดุจดอกบัวเกิดในน้ำ (เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำ) ฉะนั้น.”

ธิดาของเศรษฐีนั้น ได้ไปสู่ตระกูลของนายพรานเนื้อเพราะความสิเน่หาในปางก่อน, แม้พวกบุตรของนางก็จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในท้องของนางนั่นแล.

แม้เหล่าลูกสะใภ้ของนาง บังเกิดในที่นั้นๆ เจริญวัยแล้วได้ไปสู่เรือนของชนเหล่านั้นนั้นแหละ. ชนเหล่านั้นทั้งหมด ปฏิบัติเจดีย์ในกาลนั้น ด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล ด้วยอานุภาพแห่งกรรมนั้น ดังนี้แล.
จบเรื่องนายพรานกุกกุฏมิตร

สรุปเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิด หรือเป็นที่มาของคาถาพระเจ้าห้ามอาวุธ ก็คือวันหนึ่ง นายพรานกุกกุฏมิตรไปดักบ่วงไว้ แต่ไม่มีสัตว์มาติดบ่วงเลยแม้ตัวเดียว พบแต่รอยเท้าที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ ก็หงุดหงิดโมโห เข้าใจว่าพระพุทธเจ้านี่เองที่เป็นคนปล่อยสัตว์ออกจากบ่วงหมด ก็เลยโก่งธนูขึ้นเพื่อจะยิงพระพุทธเจ้า แต่ด้วยพุทธานุภาพ เขาก็ทำได้แค่ง้างธนูเท่านั้น ไม่สามารถจะยิงธนูได้เลย แม้พวกลูกๆ ของนายพรานที่แม่ (เมียของนายพราน) ส่งมาตามหานายพราน พอมาเห็นพระพุทธเจ้าก็ง้างธนูจะยิงเหมือนกัน แต่ก็ทำได้แค่นั้น จึงเป็นอันว่าทั้งนายพรานและลูก ก็ยืนง้างธนูค้างอยู่อย่างนั้น .........
(แต่สุดท้าย ทั้งหมดก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้า)

ข้อความตอนนี้ภาษาบาลี (หน้า 24) ใช้ว่า

สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสสัชเชตุง นาทาสิ, โส สะรัง วิสสัชเชตุมปิ โอโรเปตุมปิ อะสักโกนโต ผาสุกาหิ ภิชชันตีหิ วิยะ มุขะโต เขเฬนะ ปัคฆะรันเตนะ กิลันตะรูโป อัฏฐาสิ.

แปลว่า
พระศาสดาให้โก่งธนูได้ (แต่) ไม่ให้ยิง (ธนู) ไปได้. เขาไม่อาจทั้งเพื่อปล่อยลูกศรไป ทั้งลดลง มีสีข้างทั้ง ๒ ปานดังจะแตก มีน้ำลายไหลออกจากปาก เป็นผู้อ่อนเพลีย ได้ยืน (ซื่อ) อยู่แล้ว.

อนึ่ง ที่เขียนว่า สัตถา ธะนุง อากัฑฒิตุง ทัตวา วิสสัชเชตุง นาทาสิ เป็นการเขียนตามภาษาบาลีเดิมนะครับ

ส่วนที่เคยเห็นที่อื่นๆ เป็น ธนัง, ธะนัง (อัง) , อากัฑฒิตัง, อากัฒฑิตัง (อัง), อากัฒฑิตุง (อุง) เป็นต้น ล้วนผิดทั้งสิ้น เช่น ธะนุง แปลว่า ธนู ส่วน ธะนัง แปลว่า ทรัพย์ เป็นคนละความหมายกันเลยทีเดียว

ขอบคุณครับ


โดยคุณ ขาจรประจำ (622)(1)   [พฤ. 16 ส.ค. 2550 - 20:32 น.]



โดยคุณ ขาจรประจำ (622)(1)   [พฤ. 16 ส.ค. 2550 - 20:33 น.] #136935 (1/1)
ผิดกระทู้หรือเปล่านี่ !?

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM
www1