ในช่วงการสู้รบครั้งใหญ่บริเวณชายแดนไทย-รัฐฉาน เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ระหว่างกองกำลังว้าแดง (UWSA-United Wa State Army) -กองพล ๑๗๑ ของเหว่ยเซียะกังที่มีเป้าหมายขึ้นยึดพื้นที่ดอยไตแลงของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (SSA-Shan State Army) ภายใต้การนำของพันเอกเจ้ายอดศึก
ระหว่างช่วงสงครามครั้งนี้ สื่อมวลชนไทยและสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งทั้งเอพี รอยเตอร์ บีบีซี ได้มีโอกาสขึ้นไปยอดดอยไตแลง ที่ตั้งของกองบัญชาการสูงสุดกองทัพ SSA และได้เข้าไปจนถึง "หน้าศึก" หรือ "จุดสู้รบ" บริเวณฐานป่าไม้ และฐานเนินกองคา ซึ่งไม่กี่วันก่อนคือสนามรบอันดุเดือด มีทหารว้าแดงขึ้นมาตายนับร้อยศพ และทางว้าแดงกับพม่าเพิ่งใช้ปืน ค. ๑๒๐ ปืน ค. ๘๑ ปืน ค. ๘๒ ยิงถล่ม บางวันมากกว่า ๓,๐๐๐ ลูก ร้อยเอกจายกอน ซึ่งรับผิดชอบควบคุมดูแลฐานป่าไม้เล่าให้ฟังว่า ลูกปืนใหญ่ตกทั่วไปหมด พอทหารไทใหญ่ได้ยินเสียงปล่อยลูกปืนก็วิ่งลงบังเกอร์ กลางคืนถึงค่อยเงียบลง รุ่งเช้าพอแสงสว่างพ้นขอบฟ้าก็เริ่มยิงกันใหม่
การรบยืดเยื้ออยู่เป็นเดือน ร้อยเอกจายกอนยังยืนยันด้วยความมั่นใจ "เป็นไปไม่ได้ที่ดอยไตแลงจะแตก ไม่มีทางที่เขาจะยึดได้ เพราะเราเป็นคนรักชาติ เราต้องป้องกัน"
ถามว่าสิ่งใดเล่าที่ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารไทใหญ่ สามารถต่อสู้อย่างอดทนเข้มแข็ง และตรากตรำมาได้ยาวนานหลายสิบปีอย่างนี้
ร้อยเอกจายกอนยิ้มสดใส หยิบเหรียญทองแดงรมดำให้ดูและบอกว่า ขุนศึกต้องมีพระดี แต่ "ของดี" สำคัญที่สุดที่คุ้มครองทหารไทใหญ่ให้มั่นใจและปลอดภัยกันทั่วทุกคนก็คือ
"เหรียญสมเด็จพระนเรศวรฯ"
สมเด็จพระนเรศวรฯ
ในประวัติศาสตร์ไทใหญ่
สำหรับคนไทยสยามยุคปัจจุบัน เมื่อได้เห็นภาพการบวงสรวงบูชาไหว้ศาลสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ฐานเนินกองคาของทหารไทใหญ่ และได้เห็นหนุ่มน้อยทหารไทใหญ่ต่างมีเหรียญทองแดงรมดำรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ แขวนเชือกป่านห้อยคอเป็น "ของขลัง" ประจำตัวนั้น ถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจยิ่ง ว่าเหตุใดชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะทหารไทใหญ่ จึงได้เคารพนับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ บุรพกษัตริย์นักรบอย่างหนักแน่นมั่นคงเช่นนี้
ทั้งที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นกษัตริย์ไทยและเสด็จสวรรคตล่วงผ่านไปแล้วถึง ๔๐๐ ปี!
พันเอกเจ้ายอดศึกผู้นำกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ยุคปัจจุบัน ตอบคำถามสั้นๆ ถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อันทำให้ทหารไทใหญ่นับถือสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างที่สุดว่า
"พระนเรศวรฯ กับเจ้าคำก่ายน้อยเจ้าฟ้าของไทใหญ่ ท่านเป็นเพื่อนกัน มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือต้องการรบพม่า ต้องการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินไทยและแผ่นดินไทใหญ่ คนไทใหญ่ถือว่าถ้าพระนเรศวรฯ ยังอยู่ ไทใหญ่จะไม่ลำบากอย่างนี้ เพราะท่านมีนโยบายปราบพม่าให้หมดสิ้น คนไทใหญ่ทุกคนรู้เรื่องนี้ ผมศึกษาประวัติศาสตร์ ได้รู้ และเชื่อถือมาก ทหารไทใหญ่ทุกคนเชื่อเพราะรู้ประวัติศาสตร์ ผมอธิบายให้ฟังทุกคน"
"เจ้าคำก่ายน้อย" ที่พันเอกเจ้ายอดศึกกล่าวถึง คือเจ้าฟ้าวีรบุรุษคนหนึ่งของชาวไทใหญ่ ผู้เป็นสหายร่วมรบมากับสมเด็จพระนเรศวรฯ มีปรากฏในประวัติศาสตร์ที่คนไทใหญ่รับรู้มายาวนาน
ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับชนกลุ่มน้อย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะกับมอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่นั้น มีความแนบแน่นลึกซึ้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คือ "ชาวด่าน" ที่คอยป้องกันขอบขัณฑสีมาจากการรุกรานของพม่า หลักฐานทางไทใหญ่กล่าวย้ำถึงสัมพันธภาพแน่นแฟ้นนี้ว่า จนแม้ไทใหญ่ที่ถูกกุมตัวเป็นเชลยอยู่กลางเมืองพม่าเอง ก็พร้อมจะแข็งขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจพม่า แต่มาฝักฝ่ายอยู่กับฝ่ายไทยซึ่งเป็นเชื้อชาติเดียวกัน ดังที่ "เคอแสน" นักประวัติศาสตร์ชาวไทใหญ่บันทึกไว้ในบทความ "สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเจ้าคำก่ายน้อยแห่งไทใหญ่" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๕ ว่า ครั้งที่กษัตริย์บุเรงนองยกทัพเข้ามาตีเมืองไทย ลาว เชียงใหม่ เชียงห่ม ในปี พ.ศ. ๒๑๐๘ นั้น
"เจ้าฟ้าไทใหญ่และทหารไทใหญ่ที่ถูกจับเป็นเชลยอยู่ในเมืองหงสาวดีนั้นถือโอกาสจุดไฟเผาหอ, วังในเมืองหงสาวดีเสียหาย จนกระทั่งพวกอำมาตย์ของพม่าต้องหนีไปอยู่ที่ "เมืองทละ" การเผาหอ, วัง ในครั้งนี้เจ้าฟ้าไตย (ไทใหญ่) ให้เหตุผลว่า เพราะพม่าทำการรุกรานนำทัพเข้าตีเมืองพี่เมืองน้องของไตย หลังจากบุเรงนองทราบข่าวจึงรีบยกทัพกลับเมืองหงสาวดีทันที และจับเจ้าฟ้าไตยและคนไตยหมื่นกว่าคนทำการเผาทั้งเป็นที่เมืองหงสาวดี"
และ "เคอแสน" ยังกล่าวไว้อีกด้วยว่า สมเด็จพระนเรศวรฯ คือบุรพกษัตริย์ที่รวบรวมก่อตั้งอาณาจักรไทใหญ่ โดยที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงปรึกษากับเจ้าคำก่ายน้อย เจ้าฟ้าไทใหญ่ เพื่อจะสร้างกองทัพราชอาณาจักรไทย-ไทใหญ่ ให้เข้มแข็งถาวรต่อไปในวันข้างหน้า โดยทางไทใหญ่นั้นเจ้าคำก่ายน้อยรับอาสาที่จะเจรจากับเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๑๔๓ สมเด็จพระนเรศวรฯ มีรับสั่งให้เจ้าคำก่ายน้อยนำกำลังทหารส่วนหนึ่งเข้าไปเมืองปั่น เมืองนาย ยองห้วย ไปจนถึงภาคกลาง และเจ้าฟ้าไทใหญ่ทุกเมืองพร้อมกันจัดตั้งเป็นพระราชอาณาจักรขึ้น โดยมีสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงเป็นผู้นำ ส่วนช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จขึ้นไปสวรรคตที่เมืองหางหลวง ในแผ่นดินรัฐฉาน ประวัติศาสตร์ไทใหญ่ระบุว่า ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรฯ ได้ทรงยกทัพขึ้นไปช่วยเจ้าคำก่ายน้อย ที่กำลังทำศึกกับทหารจีนและทหารพม่าซึ่งรุกรานเมืองไทใหญ่ แต่สมเด็จพระนเรศวรฯ สวรรคตเสียก่อน เจ้าคำก่ายน้อยจึงสู้รบต่อไปเพียงลำพัง และสิ้นพระชนม์กลางสนามรบที่เมืองแสนหวี ในปี พ.ศ. ๒๑๔๘ หลังการสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรฯ ไม่นานนัก
สมเด็จพระนเรศวรฯ กับไทใหญ่
ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย
ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทางฝ่ายไทย จนไทใหญ่ต้องสังเวยชีวิตไปหมื่นกว่าศพนี้ ยังมีเรื่องราวต่อเนื่องมาอีก ในช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงทำสงครามประกาศอิสรภาพจากการยึดครองของพม่า ครั้งนั้นทหารไทใหญ่ได้เป็นกำลังพลสำคัญ เป็นเพื่อนตายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่มากับทหารไทย ต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติไทย กอบกู้เรียกคืนแผ่นดินจากการยึดครองของพม่า ดังมีหลักฐานทางฝ่ายไทย ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม กล่าวถึงในสมัยที่ไทยยังเป็นเมืองขึ้นของพม่า กษัตริย์พม่าเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรฯ นั้น "ประกอบไปด้วยปัญญาหลักแหลมลึกซึ้ง ทั้งการสงครามก็องอาจกล้าหาญ นานไปเห็นจะเป็นเสี้ยนศัตรูต่อเมืองหงสาวดีเป็นมั่นคง" พระเจ้าหงสาวดีจึงอ้างว่ากรุงอังวะเป็นกบฏขอให้สมเด็จพระนเรศวรฯ ยกทัพไปช่วยพม่าปราบกบฏ แต่ขณะเดียวกันก็ลอบส่งแม่ทัพพม่าคือ "นันทสุ" กับ "ราชสังคราม" เข้ามากวาดต้อนผู้คนจากเมืองกำแพงเพชรไปเป็นกำลังทัพ เพื่อตัดกำลังสมเด็จพระนเรศวรฯ ทั้งยังวางแผนลอบสังหารสมเด็จพระนเรศวรฯ อย่างแยบยล
ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เองที่ระบุไว้ชัดเจนว่า คนไทใหญ่ที่ถูกนันทสุกับราชสังครามกวาดต้อนครัวไปเป็นกำลังฝ่ายพม่านั้น ไม่ยอมสยบและสู้รบแข็งขืนเต็มสามารถ ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม หน้า ๑๕๑-๑๕๒ ว่า "ขณะนั้นพระยากำแพงเพชรส่งข่าวไปถวายว่า ไทใหญ่เวียงเสือ เสือต้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิ่ววายลองกับนายม้าทั้งปวงอันอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร พาครัวอพยพหนี พม่ามอญตามไปทัน ได้รบพุ่งกันตำบลหนองปลิงเป็นสามารถ พม่ามอญแตกแก่ไทใหญ่ทั้งปวงๆ ยกไปทางเมืองพระพิษณุโลก สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทราบดังนั้น ก็ให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษา และลูกขุนอันอยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกว่าซึ่งไทใหญ่หนีมานั้นเกลือกจะไปเมืองอื่นให้แต่งออก (อายัด) ด่านเพชรบูรณ์ เมืองนครไทย ชาตระการ แสเซาให้มั่นคงไว้ อย่าให้ไทใหญ่ออกไปรอด หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงทราบดังนั้น ก็แต่งออกไปกำชับด่านทางทั้งปวงตามรับสั่ง ฝ่ายไทใหญ่ก็พาครอบครัวตรงเข้ามาเมืองพระพิษณุโลก หลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงก็รับพิทักษ์รักษาไว้ นันทสุกับราชสังครามมีหนังสือมาให้ส่งไทใหญ่ หลวงโกษา และลูกขุนผู้อยู่รักษาเมืองพระพิษณุโลกก็มิได้ส่ง"
และเมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯ ทราบข่าวเรื่องกษัตริย์พม่าใช้แผนลวงพระองค์เรียกให้ยกทัพมาปราบกบฏเพื่อลอบสังหาร สมเด็จพระนเรศวรฯ เจ้าก็ได้ทรง "ตรัสแก่มุขมาตยาโยธาทั้งปวงว่า เราหาความผิดมิได้ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีคิดร้ายแก่เราก่อนนั้น อันแผ่นดินพระมหานครศรีอยุธยากับแผ่นดินหงสาวดี ขาดจากทางพระราชไมตรีกัน เพราะเป็นอกุศลกรรมนิยมสำหรับที่จะให้สมณพราหมณาประชาราษฎรได้ความเดือดร้อน แล้วพระหัตถ์ก็ทรงพระสุวรรณภิงคารหลั่งอุทกธาราลงเหนือพื้นพสุธาดล จึ่งออกพระโอษฐ์ ตรัสประกาศแก่เทพยเจ้าทั้งหลายอันมีมหิทธิฤทธิ์และทิพจักขุทิพโสต ซึ่งสถิตอยู่ทุกทิศานุทิศจงเป็นทิพพยาน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่โดยคลองสุจริตมิตรภาพขัตติยประเพณีเสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริตคิดจะทำภยันตรายแก่เรา ตั้งแต่วันนี้ไป กรุงพระมหานครศรีอยุธยากับเมืองหงสาวดีมิได้เป็นสุวรรณปัถพีเดียวกันดุจหนึ่งแต่ก่อน ขาดจากกันแต่วันนี้ไปตราบเท่ากัลปาวสาน"
ส่วนทหารและประชาชนไทใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในอารักขาของทางไทยนั้น ทางพม่าได้ขอให้ส่งกลับไป ซึ่งบรรพชนทหารไทยคือหลวงโกษาและลูกขุนทั้งปวงผู้อยู่รักษาเมืองนั้น
"ก็นำบรรดานายไทใหญ่เข้าเฝ้า จึ่งบังคมทูลว่า มีหนังสือนันทสุ ราชสังคราม ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร มาให้ส่งไทใหญ่และครัวซึ่งหนีมาอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก ข้าพเจ้าตอบไปว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวมิได้เสด็จอยู่ ซึ่งจะส่งไปนั้นยังมิได้ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทราบดังนั้นก็ตรัสให้มีหนังสือตอบไปว่าธรรมดาพระมหากษัตราธิราชผู้ดำรงทศพิธราชธรรมนั้น อุปมาดังร่มพระมหาโพธิ์อันใหญ่ และมีผู้มาพึ่งพระราชสมภาร หวังจะให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งนันทสุกับราชสังครามจะให้ส่งไทใหญ่ไปนั้น ไม่ควรด้วยคลองขัตติยราชประเพณีธรรม"
พระเมตตาอันหาที่สุดมิได้ของสมเด็จพระนเรศวรฯ ต่อประชาชนไทใหญ่เช่นนี้เองที่ยังจารึกอยู่ในจิตใจของทหารไทใหญ่ ทำให้ทหาร SSA เคารพบูชาสมเด็จพระนเรศวรฯ ในฐานะประดุจศูนย์รวมแห่งความเชื่อ ความศรัทธาในความกล้าหาญและพระเมตตาธรรมของพระองค์มาถึงปัจจุบัน |
|