(D)
พระเก่าไม่ว่าจะเป็นพระเครื่องพระบูชาสร้างด้วยเนื้อหินศิลา สัมฤทธิ์ ชิน ตะกั่ว ดิน ผง ว่านฯ ต้องมีความเก่า คือมีคราบ มีสนิม มีรอยสึกกร่อน แอ่ง รูพรุนปรายเข็ม ริ้วระแหงแตกร้าวเหี่ยวย่น ผิวเข้ม เนื้อแห้งสนิทพื้นผิวของ เนื้อพระไม่ตึงเรียบ เนื้อไม่มันวาว ไม่กะด้าง
หลักการพิจารณาตรวจสอบพระพุทธรูปบูชาเนื้อสัมฤทธิ์เก่าหรือใหม่เป็นของแท้ของเทียมหรือของปลอมดังจะได้เรียนต่อไปนี้ ขอท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาทุกตัวอักษรและตีความหมายไปด้วย แล้วท่านจะเข้าใจในการดูพระแท้พระปลอม
การที่จะตรวจสอบว่าเป็นพระเก่าพระใหม่โดยการเขียนเป็นตัวอักษรให้เข้าใจได้แน่ชัดนั้นยากนักและแต่ละหัวข้อให้ถามตนเองว่าพระที่สร้างแบบนี้ทำปลอมได้ไหม
๑. พระเก่าเราดูรูปแบบว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยใด เป็นสมัยลพบุรี เชียงแสน อู่ทอง สุโขทัย อยุธยา ถูกต้องหรือไม่เป็นฝีมือช่างราษฎร์ (สร้างไม่สวยงาม) หรือฝีมือช่างหลวง (สวยงาม)
๒. พระเก่าต้องมีคราบมีสนิม มีรอยสึกกร่อน แอ่งรูพรุนปรายเข็ม รอยชำรุดแตกร้าวเนื้อแห้งสนิทผิวเข้ม เป็นไปตามธรรมชาติอย่างที่ว่าสนิมอยู่ในเนื้อ
๓. พระเก่าแท้เห็นแล้วได้ไว้เป็นเจ้าของมีความซึ้งตา ซึ้งใจ เนื้อผิวของพระเนียนสนิท
๔. พระเก่าเอามือจับลูบดูทั่วองค์พระทุกแห่ง จะไม่มีขอบคมติดมือเลย
๕. ถ้าตรงไหนมีเนื้อในของพระสึกกร่อนจนเห็นเนื้อโลหะ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ตรงนั้นจะมองเห็นสีแดงปนเหลือง หรือค่อนข้างแดง หมองหม่น คล้ำ สีซีด ไม่มันวาว ไม่เป็นเหลืองเหมือนทองเหลืองล้วนๆ
๖. พระเก่าผิวเนื้อจะมันใส แห้งสนิท ของทำเทียมเลียนแบบผิวเนื้อพระจะมันวาวเช่นดำมันวาวหรือแดงน้ำตาลไหม้มันวาว พระของใหม่เนื้อจะกะด้าง ไม่งามติดตา หรือให้ช่างรมดำเอา
๗. พระเก่าถ้าเป็นพระนั่งเคาะดูที่ฐานนั่งจะมีเสียงดังแปะๆ ถ้าเป็นพระใหม่จะมีเสียงดังหนักแน่นกังวาล ก็เพราะเนื้อพระยังใหม่กินตัวกับอากาศไม่นานพอ
๘. พระเก่าเนื้อแห้งสนิท ผิวเนื้อของพระไม่เรียบตึง เนื้อพระเก่าจะมีรอยย่นเหี่ยวแอ่งรู พรุน สึกกร่อนสวนมากมีรอยชำรุดแตกร้าวใช้แว่นขยายกำลังสูงส่องจะมองเห็นชัดเจน
๙. พระเก่ามีรูสนิมขุม หรือขุมสนิมจะเกิดจากด้านในมาด้านนอก ปากสนิมขุดจะเล็กด้านในกลวง สนิมที่ทำเทียมใช้น้ำกรดราดกัดเนื้อพระปากสนิมจะกว้างด้านในเล็ก สนิมจะกัดกินเนื้อพระสม่ำเสมอ พระเก่าสนิมขุมจะเป็นแอ่งขรุขระสูงๆ ต่ำๆ ไม่สม่ำเสมอ
เคล็ดลับหรือตำหนิพระเก่าแท้พระบูชาสมัยเชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ลพบุรี ที่ผู้รู้กำหนดไว้บอกว่า พระที่มีลักษณะต่อไปนี้เป็นพระเก่าที่คณาจารย์หรือช่างโบราณสร้างขึ้นได้ลักษณะถูกต้องแท้จริง ย่อมประกอบไปด้วยสิ่งดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างคือ
ก. ขอบหรือจีบชายจีวร ที่พาดผ่านพระอุระของพระจากด้านหน้าวก โค้งไปด้านหลังจะมีจีบเป็น ๒ จีบ
ข. เหนือคิ้วขององค์พระจะมีขีดเป็นขีดเล็กๆ โค้งไปตามคิ้วอย่างสวยงาม
ค. พระสังฆาฏิ ของพระด้านหลังจะไม่ถึงที่นั่ง คือปลายสังฆาฏิด้านหลังพระถึงที่นั่ง คือปลายสังฆาฏิด้านหลังพระ จะไปหยุดอยู่แค่สะโพก
และพระบูชาที่ไม่มีตำหนิดังกล่าวนี้ที่เป็นของเก่าแท้แน่นอน ก็มีมากมายเช่นกัน และพระใหม่พระทำเทียมเลียนแบบ อาจจะมีตำหนิดังกล่าวนี้ได้เช่นเดียวกัน จึงถือเอาตำหนินี้เป็นแน่นอนไม่ได้ ทำไมเซียนพระจึงเพียงแต่มองดูพระพุทธรูป โดยยังไม่ได้จับต้องก็รู้ว่าพระนั้นเป็นพระเก่า หรือพระใหม่ได้ถูกต้อง อย่างนี้ก็ไม่ใช้เรื่องแปลกปลาดอันใดเพราะเขาดูและยึดถือตำหนิดังกล่าวนี้ จึงบอกได้ถูกต้อง |