(D)
หลวงพ่อโหน่ง เกิดปีขาล 2409 ต.ต้นตาล อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่สองของนายโต นางจ้อย โตงาม อาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมอุทรรวม 9 คน อายุ 24 ปี (พ.ศ. 2433) อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง โดยมีอธิการจันทร์ วัดทุ่งคอก เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงพ่อโหน่งได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปหาพระน้าชาย ซึ่งมีสมณศักดิ์ เป็นเจ้าคุณเปรียญ 9 ประโยค เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย จากนั้นได้เดินทางกลับมาศึกษาวิปัสสนากรรมฐานกับพระอธิการจันทร์ พระอัปัชฌาย์ของท่าน และได้เดินทางมาศึกษาต่อวิปัสสนากรรมฐานต่อกับหลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จนกระทั่งมีความรู้แตกฉานเป็นที่ไว้วางใจแก่หลวงพ่อเนียม เมื่อตอนที่หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา มาเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อเนียมพูดกับหลวงพ่อปานว่า เวลาข้าตาย เอ็งสงสัยอะไรให้ไปถามโหน่งเขานะ โหน่งเขาแทนข้าได้
จากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้ฌานของหลวงพ่อแก่กล้า สามารถทราบเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ เมื่อครั้งหนึ่ง หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ไปหาหลวงพ่อโหน่ง โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า หลวงพ่อโหน่งก็สั่งให้ลูกศิษย์จัดที่จัดทางไว้ พร้อมกับบอกว่าจะมีพระผู้ใหญ่มาหา
หลวงพ่อโหน่งเริ่มสร้างวัตถุมงคลเมื่อใด ไม่ทราบได้ แต่มีดินเผาอยู่องค์หนึ่งจารึกด้านหลังว่า 2461 ก็น่าจะสันนิษฐานได้ว่าพระที่ท่านสร้าง น่าจะเริ่มตั้งแต่ปี 2461 เป็นต้นมา
ลักษณะเนื้อพระมีทั้งละเอียด และหยาบ เนื้อละเอียดบางองค์เหมือนพระกรุทุ่งเศรษฐี จังหวัดกำแพงเพชร วรรณะหรือสีของพระ ก็จะมีแตกต่างกันออกไปบ้าง เช่นสีแดง สีหม้อใหม่ แดงปนน้ำตาล แดงนวล ดำปนเทา(สีนี้พบน้อย) ในเนื้อดินมักมีแก้วแกลบ(แร่ยิบซั่ม) ฝังอยู่ ลักษณะเป็นเส้นขาวทึบคล้ายกระดูกหรือแป้งฝังอยู่ในเนื้อพระ เม็ดทรายไม่มี อาจจะมีบ้างแต่ก็น้อยมาก อย่างไรก็ดีเนื่องจากพระเครื่องของหลวงพ่อโหน่งมีมากมายหลายพิมพ์ก็จริง แต่สามารถแยกแยะออกได้ตามมาตรฐานสากล หากศรัทธาในพุทธคุณต้องการหาเช่าบูชา ขอให้ศึกษาหรือขอคำปรึกษาจากผู้ชำนาญการให้ดีเสียก่อนครับ เพราะของเลียนแบบมีเยอะจริงๆ ............ ด้วยความเคารพ |